เป็นคติความเชื่อของมนุษย์ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่า การจำลองรูปภาพของตนลงบนสิ่งใดก็ตาม จะเป็นการบั่นทอนชีวิตของผู้นั้น คตินี้ยังคงเชื่อกันอยู่ในสังคมของผู้เฒ่าผู้แก่ของเราในรอบร้อยปีที่แล้วว่า การฉายรูปจะมีผลทำให้ทำอายุสั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในพระราชกิจทั้งปวง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อัจฉริยะโดยแท้ รัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เรียกได้ว่า “เป็นยุคของการปฏิรูป ( Age of Reform ) หรือยุคของการทำประเทศให้ทันสมัย ( Age of Modernization ) อย่างแท้จริง”
พระองค์ทรงสลัดคติความเชื่อถือเก่าแก่นี้อย่างสิ้นเชิง หลังจากได้ทรงริเริ่มโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกพระปรมาภิไธยย่อ “ส.พ.ป.ม.จ. ๕” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ อันเป็นปีที่ ๒ ของการเสวยราชย์ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกแล้วนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔
คราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๑๘ พรรษาอันเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หมอบรัดเล ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๔ ความว่า “เฉลิมพระชันษา ๑๘ ตามประทีป และมีมหรสพเป็นการใหญ่” ในคราวนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นอีกเป็นเหรียญที่ ๒ ครั้งนี้ได้ปรากฏพระบรมรูปของพระองค์ท่านเป็นครั้งแรกในประวัติของการสร้างเหรียญที่สมบูรณ์แบบในปีนั้น อันจะเป็นผลให้ประเทศไทยได้มีเหรียญกษาปณ์ตีพิมพ์พระบรมรูปบนด้านหน้าของเหรียญขึ้นเป็นครั้งแรกในอีก ๕ ปีถัดมา คือเหรียญตราพระบรมรูปในปี พ.ศ ๒๔๑๙
เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้เป็นเหรียญต้นแบบเนื้อดีบุก มีความแตกต่างจากเหรียญทั่วไปตรงที่ด้านหลังของเหรียญไม่มีคำว่า “การเฉลิมพระชนม์พรรษาปีมแมตรีศก๓ จุลศักราช๑๒๓๓ เปนปีที่๓ ในรัชกาลปัตจุบันนี้” สันนิษฐานว่าเป็นการสั่งทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯเสนอให้ทรงพิจารณา และเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆแล้ว จึงผลิตขึ้นเพื่อพระราชทานในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
ด้านหน้า : มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักต์ทางด้านซ้ายของเหรียญ เส้นพระเจ้า “ทรงมหาดไทย” หรือ “ทรงหลักแจว” ทรงฉลองพระองค์เสื้อยันต์ และทรงเคร่องราชอิสริยาภรณ์ รอบขอบเหรียญมีตัวอักษรว่า “สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์บดินทร เทพยมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยามที่๕”
ด้านหลัง : มีตัวอักษรรอบวงในเหรียญว่า “การเฉลิมพระชนม์พรรษาปีีมแมตรีีศก ๓ จุลศักราช ๑๒๓๓ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตจุบันนี้”
ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ชนิด : ดีบุก(เหรียญต้นแบบ)
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 53 มิลลิเมตร
อนึ่งเหรียญชนิดนี้ที่เป็นเนื้อดีบุก และมีคำจารึกด้านหลังด้วย ก็ถูกพบเห็นบ้าง แต่รายละเอียดการขึ้นรูปมักจะไม่สู้ชัดเจนนัก
สันนิษฐานว่าเป็นเหรียญที่ใช้ทดลองปรับตั้งแม่พิมพ์ก่อนการผลิตจริง
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ใช้เป็นแบบแกะเหรียญหลักแจว สันนิษฐานว่ารูปนี้น่าจะทรงฉายตอนที่พระชนมายุประมาณ ๑๗ ถึง ๑๘ พรรษา