Categories
Thai medals issued by foreigners

พ.ศ. ๒๒๒๙ เหรียญโกษาปาน

เหรียญที่ระลึกพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซายส์

นิรันดร วิศิษฎ์สิน

คำบรรยายภาพ: เหรียญที่ระลึกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) พ.ศ. ๒๒๒๙ แบบที่ผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

เหรียญที่ระลึก พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นเหรียญที่ฝรั่งเศสผลิตขึ้นเป็นที่ระลึก ในคราวที่ออก พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า โกษาปาน ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ออกพระวิสุทธสุนทร ราชฑูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้ากรุงสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ เป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหรียญนี้มี ๓ แบบ กล่าวคือ

แบบแรกผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ เซนติเมตร

แบบที่ผลิตขึ้นย้อนยุคที่ผลิตขึ้นภายหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา อีก ๒ แบบคือ แบบ R ใหญ่ และ R เล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร

ข้อสังเกตุของเหรียญทั้ง ๓แบบนี้คือ ที่ขอบเหรียญที่ผลิตในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ไม่ได้ตอกตราหรือโค๊ด ทั้งนี้เนื่องจากโรงกระษาปณ์กรุงปารีสเริ่มตีตราที่ขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตราตำแหน่งผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์ มีทั้งหมด ๖แบบ ส่วนแบบ R เล็ก และ R ใหญ่ ตีตราแบบที่ ๖ มีชื่อว่า Cornucopia ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เหรียญแบบ R ใหญ่ ที่ทำย้อนยุค

เหรียญแบบ R เล็ก ที่ทำย้อนยุค

ด้านหน้า พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มีตัวอักษรภาษาละติน ความว่า

LUDOVICUS MAGNUS REX CHRISTIANISS เแปลว่าหลุยส์ มหาราชา ชาวคริสต์

LUDOVICUS เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง หลุยส์ ที่เป็นพระนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

MAGNUS คือ GREAT ในภาษาอังกฤษ แปลว่า มหาราช
REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระมหากษัตริย์
CHRISTIANISS เป็นชื่อเฉพาะ คือ CHRISTIAN ในภาษาอังกฤษ คือ ชาวคริสต์

ด้านหลัง ภาพพระยาโกษาธิบดี ( โกษาปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ มีตัวอักษรภาษาละติน สองบรรทัด

ORATORES REGIS SIAM แปลว่า ราชฑูตแห่งพระราชากรุงสยาม
M DC LXXXVI ปี ค.ศ. ๑๖๘๖

ORATORES คือ ENVOY หรือ AMBASSADOR ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ราชฑูต

REGIS หรือ REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์


SIAM เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง กรุงสยาม


M = ๑๐๐๐ DC =๖๐๐ LXXX = ๘๐ VI = ๖ หมายถึง ปีค.ศ. ๑๖๘๖ หรือ พ.ศ. ๒๒๒๙

ส่วนด้านบน มีตัวอักษรภาษาละตินความว่า

FAMA VIRTUTIS แปลว่า  เกียรติยศแห่งคุณความดี


FAMA คือ FAME ในภาษาอังกฤษ แปลว่า กิตติศัพท์ ชื่อเสียง เกียรติยศ

VIRTUTIS คือ EXCELLENCE หรือ VIRTUE ในภาษาอังกฤษแปลว่า คุณงามความดี


EXCELLENCY เป็นคำยกย่องผู้มีเกียรติยศสูง เช่น เอกอัครราชฑูต

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน )

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้รับการยกย่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นอย่างมากดังที่ปรากฏความในพระราชสาส์นของพระองค์ยินดีมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชความว่า การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระประสงค์ที่จะผูกไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนี้ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยให้สำเร็จได้สะดวกเท่ากับการที่พระองค์ทรงเลือกขุนนางไทยที่มีอัธยาศัยและความสามารถในราชการส่งมาปรึกษาการเมืองตรงต่อเราทีเดียว และราชกิจอันนี้ พระองค์ก็ได้ทรงกระทำสมใจเรานึกอยู่แล้ว อนึ่ง ว่าแต่การที่พระองค์ทรงเลือกสรรราชฑูตส่งมายังเราคราวนี้อย่างเดียว ก็เป็นพยานอ้างถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมของพระองค์ดีกว่าคำกล่าวเล่าลือใดๆ รามาสังเกตุดูลักษณะมรรยาทแห่งราชฑูตของพระองค์นี้รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิหยิบฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแผ่ความชอบแห่งราชฑูตของพระองค์บ้างก็จะเป็นการ อยุติธรรมไป เพราะราชฑูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ที่ถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละคำๆก็ดูน่าปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำฯ

นอกจากนี้ ท่านบาทหลวง เดอ ลา แชส ยังได้สรรเสริญพระยาโกษาธิบดี ( ปาน )ด้วย ดังความในสมณสาส์นมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า เจ้าคุณ ( โกษาปาน )ได้ปฏิบัติตนอย่างเฉลียวฉลาดและสุภาพเรียบร้อยทุกประการ เป็นที่พอใจของชาวฝรั่งเศสทั่วไป นับตั้งแต่ชั้นพลเมืองจนถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด อาตมาภาพได้เคยเห็นการต้อนรับราชฑูตของต่างประเทศมาแต่ก่อน ก็ ยังไม่เคยเห็นราชฑูตประเทศใดได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษเท่ากับราชฑูตที่พระองค์ส่งมาเจริญทางพระราชไมตรีคราวนี้เลย ฯพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงสยามเป็นอย่างมากทำให้ชาวฝรั่งเศสได้เห็นว่าเมืองไทยไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแต่มีวัฒนธรรมสูงส่ง

คำในภาษาละตินที่ว่า FAMA VIRTUTIS นี้มีความหมายได้สองนัยกล่าวคือ ๑) ใช้ยกย่องเป็นเกียรติยศแด่พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ราชฑูตกรุงสยามที่ได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ ตามหลักฐานที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ๒) ใช้ยกย่องพระเกียรติยศของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีพระเกีรติยศร่ำระบือไกลมาถึงกรุงสยาม

ด้านล่างของเหรียญยังมีตัวอักษรแสดงชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ

LI ที่ปราากฏบนเหรียญด้านหน้าใต้พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นตัวย่อของชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญที่ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

R ที่ปรากฏใต้พระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔บนเหรียญที่ทำย้อนยุคนั้นแต่เดิมเข้าใจกันว่ามาจากคำว่า Restrike แต่เมื่อได้ทำการสอบค้นจากผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสแล้วได้ความว่าเป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญนามว่า Joseph ROETTIERS ( ๒๑๗๘ – ๒๒๔๖ ) เป็นชาวเฟล็มมิช คือ ชาวดัทช์ เกิดในตระกูลช่างทองและช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เคยรับราชการในโรงกระษาปณ์หลวงอังกฤษ ( The Royal Mint ) ต่อมาได้รับราชการในโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monniae De Paris ) แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าช่างทำแม่พิมพ์เหรียญในปี พ.ศ. ๒๒๒๕

ส่วนด้านหลัง มีตัวอักษร MAUGER F เป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ Jean MAUGER ชาวฝรั่งเศส เกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๑ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น มีผลงานการทำแม่พิมพ์เหรียญสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มากมายได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างทำแม่พิมพ์เหรียญประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ( Medailliste du Roi ) Jean MAUGER เสียชีวิตเมื่อ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๒๖๕ อายุ ๗๔ ปี

บรรณานุกรม
– ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓ , ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐ ,โกษาปานไปฝรั่งเศส ภาค ๔ , คุรุสภา , ๒๕๑๒
– สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร , ชุมนุมเรื่องน่ารู้ , กทม , ๒๕๐๘ – GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.

Categories
Thai medals issued by foreigners

พ.ศ. ๒๔๐๔ เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี

เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ผลิตขึ้นโดยโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นที่ระลึก ในคราวที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังภาษีสินค้าเป็นราชฑูตอัญเชิญพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสยามไปถวาย สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๔
ลักษณะเหรียญ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗.๓ ซม.
ชนิด ทอง เงิน ทองแดง
ด้านหน้า พระบรมรูปสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญทรงมงกุฎที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล ( Laurel Wreath ) เป็นต้นไม้ขนาดเล็กมีใบสีเขียวเข้มมีกลิ่นหอม ตำนานกรีกโบราณกล่าวว่าเทพอพอลโล ( APOLLO ) มีเรื่อง บาดหมางกับ EROS เทพแห่งความรัก ( รูปปั้นบรอนซ์ของเทพองค์นี้ตั้งอยู่ที่จตุรัสPICCADILLY CIRCUS กรุงLONDON ) EROS จึงแกล้งยิงเทพ APOLLO ด้วยศรทองทำให้ทรงปฏิพัทธ์หญิงสามัญชื่อ DAPHNE และยิง DAPHNE ด้วยศรเหล็ก ที่ทำให้เกิดความชังเทพ APOLLO แล้ว DAPHNE ก็หนีเทพ APOLLO ไปพึ่งเทวี GAIA ที่ทรงประทานพรให้ DAPHNE แปลงร่างเป็นต้นลอเร็ล ด้วยความอาลัยรัก เทพ APOLLO จึงนำใบของต้นลอเร็ลนี้มาทอเป็นพวงแล้วประดับบนพระเศียร สิ่งนี้ทำให้ชาวกรีกโบราณใช้ใบของต้นลอเร็ลมาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยมอบให้นักรบที่ชนะศึกสงครามเป็นเกียรติ และยังใช้ประดับพระเศียรของพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระมหามงกุฎอีกด้วย


เหรียญกระษาปณ์ทองคำ ชนิดสเตเตอร์ ของกรีกมาซีโดเนียสมัยพระเจ้าฟิลลิปส์ที่๒ พระราชบิดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ด้านหน้า เป็นรูปเทพอพอลโลสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล
เหรียญนี้มีตัวอักษรภาษาฝรั่งเศสล้อมรอบ ด้านซ้าย และ ขวา ดังนี้
NAPOLEON III EMPEREUR พระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓
ด้านล่าง ALPHEE DUBOIS นามช่างผู้ที่ทำแม่พิมพ์เหรียญ
ด้านหลัง ภาพ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พร้อมด้วยพระจักรพรรดินี ประทับบนพระที่นั่ง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟงแตนโบล รับคณะราชฑูตกรุงสยาม โดยพระยาศรีพิพัฒน์ อัญเชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฎ พร้อม ด้วยเครื่องมงคล ราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาถวายแค่สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ ด้านล่างเป็นตัวอักษรภาษาฝรั่งเศส บอกงาน จำนวน ๔ บรรทัด
RECEPTION DES AMBASSADEURS การรับรองราชฑูต
DES ROIS DE SIAM แห่งพระเจ้ากรุงสยาม
AU PALAIS DE FONTAINEBLEAU ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล
27 JUIN 1861 ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔

ที่ขอบเหรียญ มีตัวอักษร ALPHEE DUBOIS เป็นนามช่างผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( แพ บุนนาค ) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา
รายนามคณะฑูต ครั้งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ เป็นราชฑูต พ.ศ. ๒๔๐๔
๑) ราชฑูต พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) จางวางพระคลังภาษีสินค้า เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาในปี พ.ศ.๒๔๑๗
๒) อุปฑูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
๓) ตรีฑูต พระณรงค์วิชิต เจ้ากรมตำรวจนอกขวา เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ เจ้าพนักงานผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ
๔) นายสรรพวิไชย นายยามนายมหาดเล็กเวรเดช น้องร่วมบิดามารดากับพระยาศรีพิพัฒน์
๕) หลวงอินทรมนตรี เจ้ากรมสรรพากรนอก
๖) ขุนมหาสิทธิ์โวหาร ปลัดกรมพระอาลักษณ์
๗) หมื่นจักรวิจิตร์ กรมแสงใน
๘) นายสมบุญ บุตรพระยาศรีพิพัฒน์ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๙) นายหวาด บุตรพระยาอภัยสงคราม ผู้เป็นอาว์ของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๑๐) นายชาย บุตรเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
นอกจากนี้ยังมีผู้น้อยไพร่ เป็นล่าม เสมียนและคนใช้อื่นอีกรวมเป็น ๒๗ คน

จิตรกรผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ ( Medallist ) ชื่อ Mr. Alphee DUBOIS ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๓๗๔ เป็นบุตรของ Joseph Eugene DUBOIS ช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เป็นศิษย์ของ J J BARRE และ DURET ได้รับรางวัล PRIX DU ROME ในปีพ.ศ.๒๓๙๘ และเหรียญรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย Alph?e DUBOIS เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นมีผลงานชิ้นเยี่ยมมากมาย เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาศิลปินชั้นนำในสาขาการทำแม่พิมพ์เหรียญ ผลงานของ Alphee DUBOIS ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการขึ้นมาใหม่ ( Present Renaissance) บุตรชายของ Alph?e DUBOIS ชื่อ Henry DUBOIS ก็เป็นจิตกรปั้นแบบเหรียญที่มีชื่อเสียงด้วย ตระกูล DUBOIS นี้ได้เป็นนักปั้นแบบเหรียญถึง ๓ ชั่วคน ผลงานทำแม่พิมพ์เหรียญราชฑูตนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยม ( Masterpiece ) ของ Alph?e DUBOIS ได้เลยทีเดียวโปรดสังเกตุฝีมือการทำรูปด้านหน้าและองค์ประกอบของเหรียญด้านหลัง Alph?e DUBOIS เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๔๘ อายุ ๗๔ ปี

ด้านข้างของเหรียญมีตัวอักษรบอกเนื้อโลหะที่ทำเหรียญ และประทับตราผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นตราผึ้ง ( ผึ้ง ในภาษาฝรั่งเศสคือ Abeille และ CUIVRE แปลว่าทองแดง ) ตราหรือโค้ดนี้ใช้ประทับในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๐๓ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๒๒ แสดงว่าเหรียญนี้ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่ราชฑูตเข้าถวายพระ ราชสาส์นคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔ หรือ หลังจากนั้นไม่นาน ดังปรากฎความในพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ความว่า ทรงได้รับเหรียญทอง เงิน และทองแดงที่ระลึกในการนี้จากสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๐๕ เป็นเวลาเพียง ๗ เดือนเศษหลังจากที่พระยาศรีพิพัฒน์เข้าถวายพระราชสาส์น และยังได้ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ อีกด้วย

ขอบเหรียญที่ตีตรา ผึ้ง ABEILLE

ขอบเหรียญที่ตีตรา CORNUCOPIA
นอกจากนี้โรงกษาปณ์ กรุงปารีส ได้ผลิตเหรียญนี้ย้อนยุคขึ้นอีกด้วย โดยพบว่าที่ขอบเหรียญประทับตรา Cornucopia หรือ Horn Of Abundance ที่เริ่มใช้ประทับขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ มาถึงปัจจุบัน

ตรา Cornucopia เป็นเครื่องหมายมงคลของกรีกโบราณ มีรูปเป็นเขาแพะที่โคนเขามีผลไม้ และ ดอกไม้ไหลออกมาให้บริโภคได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมด ตำนานกล่าวว่า เทวี อมาลธีอา ( AMALTHEA ) มีเพศเป็นแพะเป็นแม่นมของมหาเทพซูส ( ZEUS) ในวัยเยาว์ พระมหาเทพซูสอยู่ในวัยซุกซนได้หักเขาของเทวีอมาลธีอาโดยบังเอิญ ทำให้พระเทวีกลายเป็นยูนิคอร์น ส่วนเขาที่หักไปนั้นได้รับอาณุภาพวิเศษ ที่อำนวยพรให้ผู้ที่เป็นเจ้าของอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา

รูปหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปมหาเทพซูสเอนพระวรกาย ถือ CORNUCOPIA ณ PIAZZA CAMPIDOGLIO, KAPITOL กรุง ROME (ภาพจาก GOOGLE EARTH)
เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปครั้งนั้น อันประกอบด้วย

พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง

พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ

พระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชยาน เครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ส่วนพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ปิดแผ่นกระดาษประทับตราพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เก็บรักษาไว้ที่ กองจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส
พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องราชบรรณาการ พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ
ฝรั่งเศสได้ทำภาพสีน้ำมันบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้สองภาพ ภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานพระราชวังฟงแตนโบล เมืองฟงแตนโบล ทางใต้ของกรุงปารีส ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ภาพนี้มีองค์ประกอบเหมือนกับเหรียญที่ระลึกคราวนี้ ส่วนอีกภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ผนังด้านซ้ายมือหรือด้านตะวันออกของพระที่นั่งพุดตานถมตะทอง คือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ที่ท้องพระโรงกลางของในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง คู่กับภาพ พระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์ กรุงลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๔๐๐

ภาพถ่ายท้องพระโรงกลางในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่ผนังด้านตะวันออกคือด้านซ้ายมือของภาพนี้ติดภาพสีขนาดใหญ่สองภาพคือ ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ถัดมาเป็นภาพสีพระยาศรีพิพัฒน์ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ( ไม่เห็นในภาพถ่ายนี้ )

ภาพพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และคณะราชฑูตกรุงสยามเข้าเฝ้าอัญเชิญ พระราชสาส์นพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพานทองพร้อมด้วยเครื่องมงคลราชบรรณาการ และ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ถวายแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ โปรดสังเกตุพระมหาพิชัยมงกุฎทางด้านขวาของภาพพร้อมด้วยพระราชยาน พระที่นั่ง เครื่องสูงและพระกลด ที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศยังจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบล

ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปีพ.ศ. ๒๔๐๐
บรรณานุกรม
– พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ ๖ ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้า วงศานุวัตร เทวกุล , ๒๕ เมษายน ๒๕๓๔
– แม้นมาส ชวลิต , พระราชสาส์น ร.๔ บนแผ่นทอง , แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ( ป อ บ ) ปีที่ ๙ เล่ม ๑ – ๓ , มกราคม – ธันวาคม ๒๕๑๘
– สมมติอมรพันธุ์ , พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ, เรื่องตั้งเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์ , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู , ๑๖ ธ.ค. ๒๕๑๒
– สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , พระราชลัญจกร , กทม , ๒๕๓๘
– หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ , พระมหาปราสาท และ พระราชมณเฑียรสถาน ในพระบรมมหาราชวัง , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเฉื่อย ทวีวงศ์ ณ อยุธยา, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๗
– Chateau De Fontainebleau , Le Musee Chinois De L’imperatrice Eugenie ,Paris,1994.
– GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.
– Google Earth

Categories
Thai medals issued by foreigners

พ.ศ. ๒๕๒๘ เหรียญที่ระลึก ๓๐๐ ปี ความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส

พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นปีที่ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้ตกลงกันที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศที่ได้มีต่อกันมาเป็นเวลาอันยาวนานถึง ๓๐๐ ปี คือ นับตั้งแต่วันที่เชวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เอาอัครราชทูตวิสามัญ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กับคณะได้เข้าเฝ้าฯ จำทูลพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๒๒๘เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองรัฐบาลไทยและฝรั่งเศสได้เห็นพ้องที่จะให้มีการฉลองเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งนั้นอย่างมโหฬาร โดยกำหนดให้ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตกิจกรรมในการฉลองนั้นทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับสูงของตนขึ้นเรียกว่า COMMITTEE FOR THE TRICENTENNIAL CELEBRATION OF FRANCE – THAI RELATION (คณะกรรมการงานฉลอง สามร้อยปีแห่งความสัมพันธ์ฝรั่งเศส – ไทย)     

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

 ฝ่ายไทย กระทรวงการต่างประเทศได้มอบให้ ฯพณฯ พันเอกพิเศษถนัด คอมันตร์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการระหว่างประเทศ เป็นประทานคณะกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสก็มี ฯพณฯ ลุย โดจ ( HE.LOUIS DAUGE ) อดีต การทูตอาวุโส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประทานสภากาชาดฝรั่งเศสเป็นประธานคณะกรรมการ กิจกรรมในการฉลองครั้งนี้ได้กระทำไปบ้างแล้วตั้งแต่ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ทั้งทางไทยและฝรั่งเศส
     เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อโครงการที่ทางประเทศฝรั่งเศสเสนอมาฝ่ายไทยจึงจำต้องตัดทอนให้เหลืออยู่เท่าที่จะทำได้ตามงบประมาณ โดยเฉพาะในด้านศิลปะบางแขนงที่พอจะอวดชาวต่างประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิต่อการพิมพ์ดวงตราไปรษณียากรและการผลิตเหรียญที่ระลึก ( COMMEMO – RATIVE MEDALLIOIN ) ด้านเหรียญที่ระลึกนั้น ทั้งสองประเทศต่างพยายามอย่างเต็มที่ ในอันที่จะตีพิมพ์เหรียญที่ระลึกออกมาให้ทันเวลาตามที่กำหนดไว้ ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีความชำนิชำนาญมีชื่อเสียงมาแต่โบราณโรงกษาปณ์แห่งปารีส ( MANNAIE DE PARIS ) ได้ผลิตเหรียญที่ระลึกก่อนประเทศไทย ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ 

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ลักษณะของเหรียญ : เป็นเหรียญกลมใหญ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘๑ มม. หนา ๖ มม .

ด้านหน้า :เป็นภาพขบวนแห่พระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประดิษฐานอยู่ในบุษบก ติดตามด้วยคณะทูต ที่เห็นทางซ้ายสุดตอนล่างของเหรียญคือออกหลวงกัลยาณไมตรี อุปทูต (เห็นเพียงแต่ใบหน้า) คนกลาง คือ ออกพระวิสุทธ สุนทร (ปาน) เอกอัครราชทูต ถัดไปทางขวาคือออกขุนศรีวิศาลวาจา ตรีทูตขบวนแห่กำลังอยู่ในลาน หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๒๒๙ ท่ามกลางฝูงชนที่ออกมาดูอย่างร่าเริง ภาพนี้ผู้ออกแบบได้จำลองมาจากภาพเขียนโบราณ ของพิพิธภัณฑ์สถานฝรั่งเศส (รวบรวมอยู่ในหนังสือ “AN – NALES DU MUSEE GUIMET” ของ LUCIEN FOURNEREAU ) รอบเหรียญมีตัวหนังสือภาษาฝรั่งเศส “L’AM – BASSADE DU ROI DE SIAM A VERSAILLES 1 SEPTEMBRE 1686”

ด้านหลัง :เป็นตราแผ่นดินตอนบนเป็นตัวเลขปีคริสต์ศักราช “ ๑๖๘๕ ” และ “ ๑๙๘๕ ” ซ้อนกัน ตอนล่างมีข้อความเป็นภาษาฝรั่งเศส “TRICENTENAIREDES RELATIONS ENTRE LA FRANCE ET LA THAILANDE”

ชนิดโลหะ : เงินและบรอนซ์ ( BRONZE )

ผู้ออกแบบ : MICHEL PEDRON
ประเทศไทยนั้นเนื่องจาก ภาวะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ผลิตเหรียญที่ระลึกในครั้งนี้ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการวางแผนผลิต เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกหรือเหรียญที่ระลึก เพียงเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานฉลองโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการจำหน่ายแก่นักสะสมเหรียญ และการผลิตได้สำเร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๙

Categories
Thai medals issued by foreigners

พ.ศ. ๒๔๔๐ เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส

 โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล 

หนึ่งในเหรียญที่ระลึกที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ และหาชมได้ยากมาก คือเหรียญที่ระลึกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มิลลิเมตร ซึ่งทาง โรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส (Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน) ได้จัดทำเป็นพิเศษเพื่อทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ในจำนวนเพียงเล็กน้อย เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีสเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๐ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑      เหรียญนี้ ด้านหนึ่งจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า “SA MAJESTE LE ROI DE SIAM A VISITE LA MONNAIE DE PARIS LE 16 SEPTEMBRE 1897” ซึ่งมีความหมายว่า กษัตริย์แห่งประเทศสยาม เสด็จเยือนโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส วันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1897 (พ.ศ.๒๔๔๐) ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระราชวังซึ่งใช้เป็นอาคารของโรงกษาปณ์นั่นเอง และมีคำจารึกภาษาลาตินที่วงขอบด้านบนว่า AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO ซึ่งหมายความถึงช่างทำเหรียญกษาปณ์ ซึ่งในยุคโรมัน ช่างทำเหรียญกษาปณ์ถูกขนานนามว่า “tresviri aere argento auro flando feriundo” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “three men for striking (and) casting bronze, silver (and) copper (coins)” ซึ่งก็หมายถึงช่างทำเหรียญนั่นเอง ส่วนด้านล่าง จารึกคำว่า AEDES AEDIFICATAE. M.DCC.LXX. และมีชื่อปฏิมากรผู้สร้างเหรียญอยู่ด้านล่างซ้ายมือ L. LEONARD F.  

คำบรรยายภาพ: La Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน       

จากการค้นคว้าใน จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖ โดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) พบข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ กันยายนร.ศ.๑๑๖ ที่เกี่ยวข้อง บันทึกไว้ดังนี้ …ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง มองซิเออร์ฮาโนโตเสนาบดีว่าการต่างประเทศมารับเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกทรงเครื่องอย่างเมื่อเช้า เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์ เรียกว่ามิวเซียมมงเน (Musee de la Monnaie) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์และเจ้าพนักงานผู้ใหญ่รับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นี้ มีสิ่งของหัวเมืองอินเดีย สยาม เขมร ลาว จีน ญี่ปุ่น ฝ่ายตะวันออกเป็นต้นว่า พระพุทธรูป และรูปที่นับถือของชนชาวตะวันออกต่างๆ ในห้องหนึ่งมีสิ่งของลาวทางเมืองหลวงพระบางเป็นพื้น เมื่อได้ทอดพระเนตรสิ่งของในมิวเซียมมงเนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงกระษาปณ์ซึ่งเสนาบดีกระทรวงคลังคอยรับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ได้ทอดพระเนตรที่ไว้ทองลิ่มเงินลิ่ม เครื่องจักรหล่อเบ้าหลอมทำเงิน …แล้วเสนาบดีกระทรวงคลังเชิญเสด็จพระราชดำเนินชั้นบนทอดพระเนตร ตัวอย่างเงินตัวอย่างทอง ซึ่งทำใช้ในประเทศต่างๆ และตัวอย่างเงินซึ่งโรงกระษาปณ์นี้ได้ทำเป็นอันมาก …แล้วประทับมีพระราชดำรัสด้วยเสนาบดีกระทรวงคลังอยู่ประมาณ ๑๕ นาที จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบ้านที่ประทับ…      

นอกจากนี้ จากการสอบทานเอกสารอ้างอิงของโรงกษาปณ์แห่งปารีส “Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979]) ซึ่งหมายถึงบันทึกการมาเยือนโรงกษาปณ์อย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนตัว (ของประมุขแห่งรัฐ และบุคคลสำคัญ) ในระหว่างปี ค.ศ.1717 ถึง 1979 พบข้อมูลที่สำคัญดังนี้“MC-1, 34 / 1897. Visite de Chulalongkorn, roi du Siam (16 septembre).
Medailles d’or, d’argent et de bronze << Ambassade du Siam >> en 41 mm (re’gne de Louis XIV) et en 72 mm.”ข้อความนี้ มีความหมายชัดเจนว่า กษัตริย์จุฬาลงกรณ์แห่งสยาม ได้มาเยือน (วันที่ 16 กันยายน) และที่น่าสนใจคือในบรรทัดถัดมาได้ระบุถึงเหรียญราชทูตสยาม (โกษาปาน) ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ชนิดทองคำ เงิน และบรอนซ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มม. และขนาด 72 มม ซึ่งน่าจะได้มีการทูลเกล้าถวายแด่พระองค์ท่านเป็นที่ระลึกในการเยือนครั้งนั้นด้วย     

 อนึ่ง เหรียญที่ระลึกเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งปารีสเหรียญนี้ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระองค์ และการเสด็จเยือนโรงกษาปณ์ครั้งนี้ พระองค์ฯ ยังได้พบกับปฏิมากรเอก Henri Aguste Jules Patey ผู้ซึ่งในครานั้นได้ปั้นพระรูปแบบศิลปะนูนต่ำ โดยที่พระองค์ท่านได้ทรงนั่งเป็นแบบให้เองโดยตรง และได้จัดสร้างเป็นเหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑ อันเป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง ในกาลต่อมา นายช่าง Patey ผู้นี้ก็ยังเป็นผู้ออกแบบจัดสร้างเหรียญรัชกาลที่๕ อีกหลายเหรียญ อาทิเช่น เหรียญเสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ.๑๒๖, เหรียญรัชมังคลาภิเศก, และเหรียญบาท ช้างสามเศียร เป็นต้น       เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่านิยมในการทำเหรียญที่ระลึก เสด็จฯเยี่ยมโรงกษาปณ์นี้ คงจะได้แพร่ไปยังแผ่นดินสยาม ในช่วงเวลานั้นด้วย เพราะในวันที่ ๘ ธันวาคม ปีเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงกษาปณ์สิทธิการ และในการนี้โรงกษาปณ์สิทธิการได้แสดงการทำเหรียญถวายทอดพระเนตร โดยทำเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจำนวนไม่มากนัก และได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญนั้นแด่พระองค์ และผู้ตามเสด็จ เหรียญนี้เป็นเหรียญกษาปณ์ตราพระรูป และด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน และเพิ่มคำว่า โรงกระสาป ๑๑๖ ไว้รอบพระบรมรูป และเหรียญดังกล่าวนี้เรียกกันในหมู่นักสะสมว่า เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป ร.ศ.๑๑๖ ซึ่งก็จัดเป็นเหรียญที่หายากและมีมูลค่าสูงยิ่ง ราคาปัจจุบันถึงหกหลักปลายๆ

คำบรรยายภาพ: เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป (สิทธิการ) ร.ศ.๑๑๖

ลักษณะจำเพาะ
ด้านหน้า มีคำจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า
SA MAJESTE
LE ROI DE SIAM
A VISITE
LA MONNAIE DE PARIS
LE 16 SEPTEMBER
1897
ด้านหลัง : เป็นรูปอาคารที่ทำการโรงกษาปร์แห่งปารีส ซึ่งปัจจุบันคือ French Mint และมีรูปเรือล่องอยู่ในคลองด้านหน้าอาคาร มีคำจารึกว่า
AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO

AEDES AEDIFICATAE.
M.DCC.LXX.
ปฏิมากร : L. LEONARD F. มีชื่อจารึกอยู่ด้านซ้ายใต้รูปลำคลอง

ขนาด 41 มิลลิเมตร มี Mint Mark รูป Cornucopia และคำว่า Bronze ตอกประทับบนขอบเหรียญ ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
ชนิดเนื้อบรอนซ์ ทำผิวแบบ Gilded Finishing (คือตกแต่งให้ผิวดูเป็นประกายคล้ายมีทองฉาบอยู่บางๆ)

ข้อมูลอ้างอิง

1) จดหมายเหตุ เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖, เรียบเรียงโดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ)

2) Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979])