พ.ศ. ๒๔๗๑ เหรียญที่ระลึกในงานพระเมรุพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พ.ศ. ๒๔๗๑ เหรียญที่ระลึกในงานพระเมรุพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

พ.ศ. ๒๔๗๑ เหรียญที่ระลึกในงานพระเมรุพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

เนื้อเงินกะไหล่ทอง

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นลำดับที่ ๓ ซึ่งประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาสำลี แห่งสกุลบุนนาค เมื่อแรกเสด็จพระราชสมภพ ในฐานะพระราชธิดาที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา จึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี” พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดา “รุ่นกลาง” เช่นเดียวกันกับ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งต่อมา ได้ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระมเหสีใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยกัน

     พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบมา พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ในฐานะพระขนิษฐภคินี ทรงเปลี่ยนพระฐานะจาก พระเจ้าลูกเธอ เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี

     เมื่อมีพระชนมายุได้ประมาณ ๑๗ พรรษา จากหลักฐานที่ปรากฏพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้น “ลูกหลวง” พระองค์ที่สองที่ได้ถวายตัวเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และภายหลังพระองค์เจ้าสุขุมาลฯทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรในปี ๒๔๒๐ ซึ่งทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอก (ชั้นทูลกระหม่อม) พระองค์แรกที่มีพระชนม์ พระองค์จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ทรงรับพระราชทานเครื่องอิสริยยศราชูปโภคลงยาราชาวดี นับว่าเป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่มีการเฉลิมพระนามและพระอิสริยยศอย่างเป็นทางการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงได้รับการเลื่อนพระยศเป็น “พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี” และทรงดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนสิ้นรัชกาลโดยพระองค์มีพระฐานะเป็นพระมเหสีลำดับสาม รองจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

พระรูปทรงฉายเมื่อทรงพระเยาว์

เมื่อผลัดแผ่นดิน พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ก็ทรงเป็นเช่นเดียวกันกับกับพระมเหสีเทวีพระองค์อื่นๆ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ โศกสลด และปลีกพระองค์ออกจากพระบรมมหาราชวังมานับตั้งแต่นั้น โดยพระองค์พร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ได้เสด็จออกมาประทับที่วังบางขุนพรหมซึ่งรัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้เป็นวังที่ประทับของพระราชโอรส คือ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ และยังทรงดำรงพระยศเป็นพระนางเจ้าฯ พระราชเทวีจนตลอดรัชกาลที่ ๖

     ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐที่สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีมีต่อพระองค์จึงทรงเฉลิมพระนามาภิไธยถวายเป็น “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า” และด้วยเหตุผลเดียวกันนั้น ทรงเลื่อนพระอิสริยยศพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี”

     ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล คณะผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยมีพระบรมราชโองการให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ ในรัชกาลที่ ๗ มิได้ทรงเป็นพระปิตุจฉาฯ ในรัชกาลนั้นอีก ดังนั้น เพื่อป้องกันความสับสนจึงมีประกาศให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ทั้งนี้ ประกาศนี้มิใช่พระบรมราชโองการ และมิใช่พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และยังควรออกพระนามว่า สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในรัชกาลที่ ๗ มากกว่า เนื่องจากเป็นพระราชอิสริยยศสุดท้าย และสูงกว่าพระราชอิสริยยศเดิม

     สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคพระปับผาสะ (ปอด) พิการในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๒๘๙ (๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐) ณ ตำหนักสมเด็จ วังบางขุนพรหม พระชนมายุ ๖๖ พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี พร้อมด้วยพระนัดดา และพระนัดดาทรงเลี้ยง ทรงหมอบเฝ้าฯ อยู่ข้างพระที่ พระศพอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระเกียรติยศถวายไว้อาลัย ๑๐๐ วันเป็นกรณีพิเศษ พระเมรุ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงหนังสือ “สามก๊ก” แจกเป็นของที่ระลึก และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์โคลงถวายหน้าพระศพทุกสัตมวาร

     งานพระราชทานเพลิงพระศพจัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธาน ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

ข้อมูลจาก วิกิพิเดีย สารานุกรมเสรี

ลักษณะ  รูปไข่ ขอบหยัก ด้านบนมีห่วง
ด้านหน้า พระรูปของพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี ฉายพระพักต์ด้านข้าง ครึ่งพระองค์
ด้านหลัง  มีข้อความว่า

“ที่รฤก
งานพระเมรุ
ท้องสนามหลวง
พ.ศ. ๒๔๗๑”

ชนิด  เงินกะไหล่ทอง เงิน ทองแดง
ขนาด สูง ๓.๕ ซม กว้าง ๒.๕ ซม
สร้าง  พ.ศ. ๒๔๗๑

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email
On Key

Related Posts

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ EP1 | เหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ.๑๒๕ https://www.youtube.com/watch?v=gKf1rqiTXCg&list=PLseyPJqYT8qCaYHhzhvdMe-mu_7uJEj6R จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกไว้ว่างานวัดเบญเป็นงานที่สนุกมากและเป็นที่เลื่องลือของชาวพระนครในเวลานั้นและในปี พ.ศ.2449 ได้มีการประชันศาสตราวุธต่างๆเช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน กริช ปืน และขอช้าง เป็นต้น….”.เราจึงได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและที่มาของเหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ. ๑๒๕มา #เล่าเรื่องผ่านเหรียญ ให้ทุกคนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเพราะ #เหรียญที่ระลึกเปรียบเสมือนหลักกิโลทางประวัติศาสตร์

พ.ศ.๒๕๖๒ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า   โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๕๖๒ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลจำเพาะ ชนิดโลหะ เงิน ความบริสุทธิ์ 92.5% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 23 กรัม (ผลิตไม่เกิน 300,000 เหรียญ)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕) เหรียญ ส พ ป ม จ ๕ เป็นเหรียญรางวัลซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่แต่งซุ้มไฟประกวดในวัง เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีพศ 2413 ซึ่งทรงมีพระชนมายุ 17 พรรษา เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ ตามประวัติกล่าวไว้ว่าทรงพระราชทานเป็นเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง จำนวนที่โปรดเกล้าให้สร้าง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด