Categories
Event

งานรำลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปี สวรรคต

งานนิทรรศการ เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ จัดโดยพิพิธภัณฑ์เหรียญที่ระลึกไทย (www.thai-medal.com) ณ พิพิธภัณฑ์ธงสยาม เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี การสวรรคตรัชกาลที่ ๕ วันที่ ๒๓ ตุลาคม พศ ๒๕๕๓ จัดเป็นการแสดงเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่๕ ที่ครบถ้วน มากมายที่สุด ในรอบหลายปี เท่าที่เคยมีการจัดแสดงเหรียญที่ระลึกกันมา

งานนี้ได้รับความสนใจจากแขกผู้มีเกียรติ และผู้ใหญ่ในวงการเป็นอย่างมาก ในภาพ คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (คุณอ้วน ต้นฉบับ) ให้เกียรติบรรยายเกร็ดประวัติเหรียญรัชกาลที่ ๕ ตั้งแต่ต้นรัชกาล จนถึงช่วงท้ายรัชสมัย ในภาพบน ซ้ายมือสุด พลเรือตรี วีระพันธ์ บางท่าไม้ (เสื้อฟ้า) ผู้คร่ำหวอดในวงการเหรียญที่ระลึกอีกท่านหนึ่ง กำลังชมเหรียญด้วยความสนใจ

ช่วงสำคัญของรายการ อยู่ที่การเสวนาเรื่องงานการประกวดตั้งโต๊ะ และวิเคราะห์เกร็ดประวัติเชิงลึก นำโดยอาจารย์กล้วย ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดยิบ และ ยังสืบทอดความรู้ และ ข้อมูลโดยตรงจากบรรพบุรุษ และ ยังเอื้อเฟื้อภาพถ่ายงานประกวดตั้งโต๊ะ ที่ยังไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อนอีกด้วย

ในภาพ คุณประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร (ขวาสุด) นักสะสมศิลปวัตถุ ระดับแนวหน้าของประเทศ  กำลังเยี่ยมชมนิทรรศการ

คุณนิรันดร วิศิษฎ์สิน (ถือไมค์) กำลังร่วมเสวนาเรื่องเหรียญ ร.๕ อย่างออกรส

ส่วนจัดแสดงเหรียญรางวัลการตั้งโต๊ะ ชนิดครบถ้วนกระบวนความ รวมถึงกรอบยู่อี่ ที่หาชมยากมาก

ส่วนหนึ่งของเหรียญแพรแถบ ที่หาชมยากยิ่ง นำมาจัดแสดงชนิดครบเครื่อง

กล่องพระราชทานงานประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ของสะสมระดับ Master Piece ที่หาชมได้ยากยิ่ง

เหรียญที่ระลึก ร.๕ ที่ได้จัดแสดงในครานี้ มาแบบ Full Package เปี่ยมทั้งข้อมูล ความรู้ และได้ชมเหรียญแท้ที่หายากและทรงคุณค่ายิ่ง

ทีมงาน Thai-medal.com จากขวาไปซ้าย คุณอุเทน เพิ่มพูนธนลาภ, กัปตันสามารถ เวสุวรรณ, คุณนิรันดรวิศิษฎ์สิน, และ คุณพฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล ระหว่างการตระเตรียมนิทรรศการ

บรรดาเซียนเหรียญ และ นักสะสม กำลังเสวนา และ ชมเหรียญกัน ในระหว่างรอพิธีเปิดงาน ที่เห็นในภาพ (ซ้ายไปขวา) กัปตันสามารถ, คุณศราวุฒิ แห่งร้านเฮียไจ๊ Thaprachan.com, เและ คุณเล็ก Cokethai.com

งานแสดงเหรียญครั้งนี้ แม้จะเป็น event เล็ก ๆ แค่หนึ่งวัน แต่ก็เปี่ยมด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่ง และ ทั้ง วิทยากร และ วัตถุจัดแสดง ก็เป็นระดับคุณภาพชั้นแนวหน้า และ ที่สำคัญที่สุด ทางทีมงาน Thai- medal.com ขอขอบคุณอาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล และ คุณจันทกาญจน์ คล้อยสาย ที่กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

งานแสดงเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่๕ ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีการสวรรคต จัดโดย พิพิธภัณฑ์เหรียญที่ระลึกไทย (www.thai-medal.com)

เอื้อเฟื้อสถานที่โดยพิพิธภัณฑ์ธงสยาม (www.siamflag.org)

Categories
Knowledge

การจำแนกประเภทของเหรียญ

  1. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน

    ผลิตออกใช้ สำหรับประชาชนได้มีไว้จับจ่ายใช้สอยเป็นเงินปลีกย่อยผลิตออกมาใช้ตามระบบเศรษฐกิจ สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันมี 8 ชนิดราคา คือ 1 สตางค์ 5 สตางค์ 10 สตางค์ 25 สตางค์ 50 สตางค์ 1 บาท 5 บาท 10 บาท เปลี่ยนศักราชบนหน้าเหรียญตามปีที่ผลิต

  2. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก

    ได้แก่ เหรียญกษาปณ์ที่ผลิตขึ้นเป็นครั้งคราวในโอกาสพิเศษที่สำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง  และองค์การระหว่างประเทศเพื่อเป็นเกียรติยศชื่อเสียง และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ผลิตเป็นครั้งคราวและมีจำนวนจำกัด มักจะผลิตด้วยโลหะที่มีค่าสูง เช่น ทองคำ เงิน กษาปณ์ที่ระลึกใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับกษาปณ์หมุนเวียน แต่ประชาชนมักจะนิยมเก็บไว้เป็นที่ระลึกอย่างของมีค่า หรือเพื่อการสะสม

  3. เหรียญที่ระลึก

    ตามความหมายสากลหมายถึงเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกหรือเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ที่สำคัญของบ้านเมืองในระยะเวลานั้นๆ โดยมีสัญญลักษณ์หรือการจำลองภาพของเหตุการณ์สำคัญนั้นๆ ลงไว้พร้อมกับคำจารึกและเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นสำหรับเหรียญที่ระลึกของไทยนั้นสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์และประวัติศาสตร์ของประเทศ

  4. เหรียญราชอิสริยาภรณ์

    ที่นับเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เรียกอย่างลำลอง ว่า เหรียญแพรแถบ) หมายถึง เหรียญต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ได้แก่ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ ทหารที่ออกศึกสงคราม และสำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ และที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุคคลประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามที่ทางราชการกำหนด

    เหรียญราชอิสริยาภรณ์นี้แบ่งได้เป็น ๔ ประเภท ดังนี้

    – เหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการสงคราม หรือพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในความกล้าหาญ
    – เหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน
    – เหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์
    – เหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก



เหรียญที่ระลึกเท่าที่ปรากฎ พอจะแบ่งออกได้เป็นประเภทต่างๆ ตามความมุ่งหมายของผู้สร้างดังนี้:

  • เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
    1. งานบรมราชาภิเศก
    2. งานเฉลิมพระชนม์พรรษา
    3. พระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีลงสรงสนาน เฉลิมพระสุพรรณบัฐ งานเฉลิมพระที่นั่งสำคัญ
    4. งานพระบรมศพ
  • เกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ บุคคลสำคัญ
    – คงอนุโลมตามข้อ 1. เช่น วันประสูติ พิธีสถาปนาพระอิสริยยศ วันสิ้นพระชนม์ ฯลฯ
  • ที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ
    1. การสมโภชพระนครครบรอบ 100 ปี 150 ปี 200 ปี
    2. การเปิดหอพระสมุด อนุสาวรีย์ ฯลฯ
    3. การแสดงนิทรรศการ การเกษตร อุตสาหกรรม ฯลฯ
    4. รางวัล
Categories
พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญเฉลิมพระชันสา เป็นชนิดทองคำอย่างหนึ่ง เงินอย่างหนึ่ง มีน้ำหนัก ๔ บาท หรือ ๖๐ กรัมเท่ากับจำนวนพระชนมายุของพระองค์ เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึก และโปรดเกล้าฯ ให้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเนื่องจากเหรียญนี้มีอักษรจีนอยู่ด้านหลัง อ่นออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ แต้ เม้ง ทง ป้อ ” ซึ่งแปลว่าเงินตราของแต้เม้ง ซึ่งเป็นพระนามภาษาจีนของรัชกาลที่ ๔ ทำให้เหรียญนี้ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่าเหรียญแต้ เม้ง ซึ่งเหรียญนี้นับได้ว่า นอกจากจะเป็นทั้งเหรียญกษาปณ์ (คือมีราคาหน้าเหรียญ ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ) แล้วก็ยังถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของไทยอีกด้วย นอกจากนี้เหรียญนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ทรงโปรดฯ ให้มีพระบรมราชานุญาต นำไปใช้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้อีกด้วย

อนึ่ง พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เพิ่งเริ่มมีเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องด้วยผู้คนแต่เก่าก่อน มีคติความเชื่อว่าหากผู้ใดรู้วัน เดือน ปีเกิดของตนแล้ว อาจนำไปประกอบเวทมนต์ ไสยศาสตร์ต่างๆได้ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ในยุคก่อนหน้านี้ จึงมิได้ให้ปรากฏว่าได้มีการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา แต่อย่างใด

เหรียญที่นำรูปมาลงให้ดูนี้เป็นชนิดเนื้อเงิน มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และผิวออกสีเงินตามธรรมชาติ

ทางด้านหลัง มีอักษรจีนแสดงไว้ ๔ ทิศ มีลายแก้วชิงดวง และคำว่า “ กรุงสยาม ” อยู่ตรงกลาง

ภาพล่าง เมื่อนำมาเรียงเข้าชุด กับเหรียญกษาปณ์ชนิด ๒บาท ๑บาท ๒สลึง ๑สลึง ๑เฟื้อง และ ๒ไพ นับว่ามีความสวยงามเป็นอย่างมาก อันที่จริงแล้วเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ ๔ ชุดนี้ ถูกออกแบบได้อย่างงดงาม อ่อนช้อย และเรียงเป็นใบเถา ในยุคปัจจุบัน เหรียญกษาปณ์ชุดนี้ จัดเป็น World Class Collection ที่นักสะสมจากทั่วโลกนิยม และเสาะแสวงหา

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว
ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ปีพ.ศ.๒๔๐๗ ซึ่งเป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา