พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

พ.ศ.๒๔๒๕ เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก (เรียกกันง่ายๆว่าเหรียญแพรแถบ) ใช้อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ) เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พศ๒๔๒๕ อันเป็นมหามงคลสมัยซึ่งบรรจบครบรอบร้อยปีที่หนึ่ง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ และทรงเริ่มพระบรมราชจักรีวงศ์สืบรัตนราไชยมไหศวรรย์ยั่งยืนต่อมาจนถึงรัชกาลของพระองค์ท่าน ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยยศ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนามว่า “เครื่องราชอิยริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ดำรงรักษาราชประเพณี และรักษาความสามัคคีในราชตระกูลยั่งยืนรุ่งเรืองสืบมา พร้อมกันนั้นทรงมีพระราชดำริว่า ข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดี มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ราชการนั้น ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศด้วย จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้สร้างเหรียญเครื่องประดับชื่อ “ดุษฎีมาลา” สำหรับพระราชทานทหาร พลเรือนตามความดีความชอบ

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พศ๒๔๒๕ กำหนดให้มีเข็มพระราชทาน ประกอบกับเหรียญรวม ๕ ชนิด สำหรับใช้กลัดติดกับแถบแพร เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณสมบัติพิเศษตามสาขาความชอบแห่งผู้ได้รับพระราชทาน ดังนี้

๑ เข็มราชการในพระองค์,  ๒ เข็มราชการแผ่นดิน, ๓ เข็มศิลปวิทยา, ๔ เข็มความกรุณา, ๕ เข็มกล้าหาญ

จากการค้นคว้าในพระราชบัญญัตติ เครื่องอิศริยศ สำหรับความดีความชอบ เหรียญดุษฎีมาลา พบมาตราที่เกี่ยวข้องกับเข็มกล้าหาญระบุไว้ดังนี้ (ใช้ภาษาตามต้นฉบับเดิม)….

….มาตรา ๑๑ เข็มที่ จาฤก ว่า กล้าหาญนั้น

ไว้สำหรับพระราชทานออฟฟีชเชอร์นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งบกและเรือ แลข้าราชการที่เข้ากองทับกับทหารไปรเวทลูกเรือกระลาสีในเรือรบหลวง แลขุนหมื่นกรมการไพร่หลวงไพร่สม ที่เข้ากองทับรับราชการต่อสู้ฆ่าศึกศัตรู ได้กระทำการแขงแรงสำแดงความกล้าเปนการปรากฏต่อสู้ฆ่าศึกศัตรูโดยความภักดี ป้องกันรักษบ้านเมืองเปนที่เกิดของตน จึ่งจะพระราชทานเข็มที่จาฤกว่ากล้าหาญ ให้ตามเหตุการที่กำหนดต่อลงไปดังนี้

ข้อ ๑ ถ้ากองทับบกทับเรือก็ดี ได้กระทำการรบต่อสู้ฆ่าศึกศัตรูโดยความกล้าหาญต่อหน้าแม่ทับนายกองก็ดี ก็ให้แม่ทับนายกองจดชื่อออฟฟีชเชอร์ แลทหารแลความกล้าที่ได้กระทำนั้น มีไบบอกให้นำกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยเร็ว ทรงทราบความแล้วจะทรงพระราชดำหริห์เหนสมควร ที่จะพระราชทานเหรียญดุษดีมาลา แลเขมไปให้แม่ทับนายกองผู้บังคับการ พระราชทานผู้มีความชอบประดับตัวในที่ประชุมทหาร แลอ่านคำประกาศที่ผู้มีความชอบได้กระทำสำแดงความกล้าหาญให้ทราบทั่วกัน แลให้แม่ทับนายกองจดชื่อ แลความดีความชอบไว้ในสมุดสำหรับกองทับ แล้วให้คัดสำเนาส่งมายังออฟฟีชหลวง เจ้าพนักงานจะได้คัดลงในสมุดสำหรับเหรียญดุษดีมาลา แล้วส่งสำเนาไปลงในราชกิจจานุเบกษา เสมอทุกคราวพระราชทานไป

ข้อ ๒ ถ้าผู้ที่ได้ทำการสำแดงความที่ได้กล้าหาญมิได้อยู่ในที่ต่อหน้าแม่ทับ ผู้บังคับการดังกล่าวมาแล้ว ผู้ที่สำแดงความกล้า อยากจะได้รับพระราชทานเกียรติยศอันนี้แล้ว ก็ได้แจ้งความตามที่ตนได้กระทำทดลองทุกอย่าง ให้เปนที่เชื่อยินดีแก่กัปตันนายกองนายร้อยที่ตนอยู่ในบังคับ ให้จดหมายแจ้งความไปยังผู้บังคับกองทับตามเหตุการ ซึ่งทหารนายกองของตนได้สำแดงความกล้าหาญ แม่ทับกับนายกองพิจารณาเหนสมควรแล้ว ก็ให้มีใบบอกขอมายังเสนาบดีตามกรมขึ้นนำกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริห์เหนชอบแล้ว ก็จะพระราชทานให้แล้วให้แม่ทับนายกองประพฤฒการตามบังคับไว้ในข้อ ๑

ข้อ ๓ ถ้าทหารบกก็ดีเรือก็ดี เปนหมู่กันไม่เกินกว่า ๕๐ คน ฤๅกองทับกองใดกองหนึ่งที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า กอมปนี ตรุบสควด ดรอนแบลกเลียน รยิเมนต์ บริเคด หนึ่งใดก็ดี ได้สำแดงความกล้าหาญด้วยกันทั้งหมู่ทั้งกอง ยากที่จะเลือกผู้ที่กล้าหาญองอาจได้ แล้วก็ให้แม่ทับนายกองที่บังคับหมู่กองนั้น บังคับให้ออฟฟีชเชอร์เลือกกันเอง ตามออฟฟีชเชอร์นายหนึ่ง นอนกอมมิชันออฟฟีชเชอร์เลือกในพวกกันเอง ๒ นาย ไพร่ทหารเลวเลือกในพวกกันเอง ๔ นาย ที่ควรจะได้รับเหรียญประดับความชอบนี้ เมื่อออฟฟีชเชอร์และทหารเลือกได้ผู้ที่ควรจะได้รับเหรียญเครื่องประดับแล้ว ให้จดชื่อมอบให้แก่แม่ทับนายกองๆ มีใบบอกส่งมายังผู้บังคับการใหญ่ฝ่ายทหาร ฤๅตามกรมขึ้นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำหริห์เหนสมควรแล้วจะพระราชทานให้

ข้อ ๔ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใด ได้สำแดงความกล้าหาญเปนการที่นอกจากกำหนดไว้ ตามบังคับทั้ง ๓ ข้อ แต่การนั้น เปนเหตุปรากฏที่สมควร ซึ่งจะได้เหรียญเครื่องประดับนี้ ก็ให้อรรคมหาเสนาบดีกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริห์วินิจฉัยเหนชอบแล้วที่จะพระราชทานให้ตามความชอบความควร แต่การที่เกิดดังนี้ ผู้ที่จะได้รับรางวันนั้นต้องทดลองชี้แจงสำแดงความให้ปรากฏว่า ได้กระทำความกล้าหาญจริงแท้ตามคำขอ

ข้อ ๕ ถ้าผู้ที่ได้รับเหรียญเครื่องประดับนี้ มิใช่ออฟฟีชเชอร์ที่มีตราตั้ง แลข้าราชการซึ่งมีสัญญาบัตรแล้ว เปนแต่นอนกอมมิชันออฟฟีชเชอร์ แลทหารไปรเวทกรมการขุนหมื่นไพร่หลวงไพร่สม ก็จะพระราชทานเบี้ยหวัดให้เปนเบี้ยเลี้ยง ให้ปีละ ๑๒ ตำลึงจนตลอดอายุ ถ้าได้ทำความชอบโดยความกล้าหาญอีก ได้รับพระราชทานเข็มเดิมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ที่จะพระราชทานเบี้ยหวัดเปนเบี้ยเลี้ยงเพิ่มให้อีก ๖ ตำลึง ทุกๆคราวความชอบที่ได้รับพระราชทานเข็มเพิ่มเติม

ข้อ ๖ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใด ได้สำแดงความกล้าหาญ ซึ่งควรจะได้รับพระราชทาน เหรียญเครื่องประดับนี้แล้วมุนนายผู้บังคับการบดบังความชอบเสีย หาเสนอให้ไม่นั้น ที่ให้ผู้นั้นทำฎีกาทูลเกล้าฯถวาย จะโปรดเกล้าฯให้มีตระถาการสืบพิจารณาให้ได้ความจริง ทรงพระราชดำริห์วินิจฉัยเหนสมควรแล้ว ก็จะพระราชทานให้ต่อพระหัตถ์
จากการค้นคว้าในพระราชกิจจานุเบกษา พบหลักฐานการพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเข็มศิลปวิทยา


หมายเหตุ: ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร สำหรับความเอื้อเฟื้อด้านข้อมูลพระราชบัญญัตติ เครื่องอิศริยศ สำหรับความดีความชอบ เหรียญดุษฎีมาลา

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email
On Key

Related Posts

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ EP1 | เหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ.๑๒๕ https://www.youtube.com/watch?v=gKf1rqiTXCg&list=PLseyPJqYT8qCaYHhzhvdMe-mu_7uJEj6R จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกไว้ว่างานวัดเบญเป็นงานที่สนุกมากและเป็นที่เลื่องลือของชาวพระนครในเวลานั้นและในปี พ.ศ.2449 ได้มีการประชันศาสตราวุธต่างๆเช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน กริช ปืน และขอช้าง เป็นต้น….”.เราจึงได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและที่มาของเหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ. ๑๒๕มา #เล่าเรื่องผ่านเหรียญ ให้ทุกคนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเพราะ #เหรียญที่ระลึกเปรียบเสมือนหลักกิโลทางประวัติศาสตร์

พ.ศ.๒๕๖๒ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า   โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๕๖๒ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลจำเพาะ ชนิดโลหะ เงิน ความบริสุทธิ์ 92.5% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 23 กรัม (ผลิตไม่เกิน 300,000 เหรียญ)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕) เหรียญ ส พ ป ม จ ๕ เป็นเหรียญรางวัลซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่แต่งซุ้มไฟประกวดในวัง เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีพศ 2413 ซึ่งทรงมีพระชนมายุ 17 พรรษา เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ ตามประวัติกล่าวไว้ว่าทรงพระราชทานเป็นเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง จำนวนที่โปรดเกล้าให้สร้าง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด