พ.ศ.๒๔๕๑ เหรียญที่ระลึกชมสวน
บ้านหิมพานต์ หรือปาร์คสามเสน มีพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๖๗๗ ถนนสามเสน อำเภอดุสิต มีขนาดที่ดินประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตรว สิ่งปลูกสร้างเป็นตึกแบบฝรั่งขนาดใหญ่ถึง ๒ หลัง กับเรือนนอนไม้ ๑ หลัง และมีกระโจม ๑ หลัง มีโรงละคร สระน้ำ และอื่นๆ การปลูกสร้างก็ล้วนด้วยช่างฝีมืออย่างวิจิตร มีลวดลายสลักงดงามตามแบบคฤหาสน์ของชาวตะวันตก บริเวณทั่วไปตกแต่งเป็นเนินดิน มีอุโมงค์ มีภูเขาจำลอง ประดับด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ต่างๆ มากมาย ดูร่มรื่นน่าอยู่อาศัยเป็นที่พักผ่อนได้ดี ปาร์คแห่งนี้ (ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระสรรพการฯด้วย) ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้เข้าชมในปีพศ ๒๔๕๑ หรือ รศ๑๒๗
ต่อมา หลังจากเปิดได้ราว ๒ ถึง ๓ ปี ได้ตกทอดมาเป็นกรรมสิทธิ์ของแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพอพระราชหฤทัยมาก ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อทั้งที่ดินและสิ่งก่อสร้างคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๕/๓๓๕๔ อ เลขที่ ๑๙ ในราคา ๓๐,๐๐๐ ชั่ง (๒๔๐,๐๐๐ บาท) โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองคุมงานจัดดัดแปลงให้เป็นสถานพยาบาล ซึ่งก็คือโรงพยาบาลวชิรพยาบาลนั่นเอง ได้ทรงออกค่าปรับปรุงซ่อมแซมสถานที่ จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการแพทย์และการพยาบาล ตลอดจนอุปกรณ์อื่นๆ สั้นพระราชทรัพย์อีก ๓๗,๕๗๖.๐๐ บาท จึงเสร็จเรียบร้อย พร้อมที่จะเปิดใช้สถานพยาบาลได้
พระสรรพการหิรัญกิจ เป็นบุตรชายคนที่ ๓ ของพรหมาภิบาลและเป็นราชองครักษ์ผู้ได้รับความนับหน้าถือตาอย่างสูงในสยาม หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้เข้ารับราชการอยู่ราว ๑๐ ปี ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงคลัง อย่างไรก็ตามการตั้งธนาคารสยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์ในสมัยต่อมา) และการแต่งตั้งพระสรรพการหิรัญกิจให้เป็นผู้จัดการของธนาคารแห่งนี้ทำให้ท่านต้องเกษียณจากราชการ นับแต่นั้นมาท่านก็ได้อุทิศเวลาทั้งหมดในการประกอบกิจการธนาคาร และความสำเร็จตลอดจนความมั่นคงของธนาคารเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถในการจัดการและการได้รับการฝึกฝนทางการเงินมาเป็นอย่างดี
อนึ่ง จาก โฆษณาจำหน่ายเหรียญหิมพานต์ป๊าก จากหนังสือพิมพ์ไทย ฉบับวันศุกร์ที่ ๑๙ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้กล่าวไว้ว่า“จำหน่ายเหรียญ หิมพานต์ป๊าก ด้วยเจ้าของหิมพานต์ป๊าก ให้สร้างเหรียญทองคำและเหรียญเงิน สำหรับหิมพานต์ป๊ากขึ้นแล้วอย่างงดงามสำหรับจำหน่ายแก่ผู้ต้องการ
๑. ผู้ที่มีเหรียญนี้มีอำนาจเที่ยวในป๊ากได้ตลอดเวลามีกำหนด ๑ ปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๗ เป็นต้น ไปถึง รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐
๒. ผู้ที่ถือเหรียญนี้มีอำนาจจะพาเพื่อนฝูง หรือบุตร ภรรยาไปได้คราวหนึ่งไม่เกิน ๒ คน
๓. ผู้ที่ถือเหรียญนี้ ต้องมีหนังสือสำคัญฉบับหนึ่ง แสดงว่าได้ถือเหรียญนี้ไว้อย่างถูกต้อง และได้ส่งเงินค่าเหรียญตามอัตราแล้ว
๔. ผู้ที่จะขอรับเหรียญอนุณาตนี้ ต้องเสียเงินค่าบำรุง แก่หิมพานต์ป๊ากจะเป็นจำนวนเงินคราวเดียวตลอดเวลา ๑ ปี เหรียญทองคำ ๒๐๐ บาท เหรียญเงิน ๑๐๐ บาท เพราะฉนั้นถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดมีความประสงค์จะใคร่รับเหรียญชนิดใด เพื่อเป็นการบำรุงอุดหนุนหิมพานต์ป๊าก ซึ่งเป็นที่สำหรับเที่ยวและพบปะสนทนากันกับเพื่อนฝูง และเพื่อพักผ่อนการงานสำหรับความรื่นเริง ซึ่งพึ่งเกิดมีชื่อเสียงต่อชาติแล้ว โปรดนำเงินไปรับที่ประสารทรัพย์บริษัทบาง ขุนพรม ตั้งแต่เช้า ๓ โมง ถึงบ่าย ๓ โมง ทุกวันเสาร์เพียงเที่ยง เว้นแต่วันอาทิตย์ปิด”
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗
หลวงประสาร อักษร พรรณ
ผู้อำนวยการ
ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ เป็นรูปไข่ ขอบเรียบ
ด้านหน้า กลางเหรียญเป็นรูปโลห์มีตัวเลขจารึก “ ร.ศ.๙๙ ” ทั้งสองข้างมีเทวดาถือพระขรรค์ เหนือโลห์มีพญานาค 3 เศียร ด้านล่าง ชิดวงขอบมีแถบจารึก ปีจุลศักราช “ ๑๒๔๒ ”
ด้านหลัง มีข้อความว่า “ อนุญาตชมสวน๑๒๗ ” อยู่ภายในวงพวงมาลา
ชนิด เงิน
ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 28 มิลลิเมตร