พ.ศ.๒๔๔๙ เหรียญประชันอาวุธ รศ๑๒๕
เหรียญประชันอาวุธ รศ๑๒๕ (พศ 2449) สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นรางวัลในการประกวดอาวุธ เช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน ปืน ในงานฉลองวัดเบญจมบพิตร ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน จนถึง ๒ ธันวาคม รศ ๑๒๕
เนื่องจากผมได้เหรียญชนิดนี้มาพร้อมกันคู่หนึ่ง เหรียญแรกมีคำจารึกว่า “ ประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร รศ๑๒๕ ” กับอีกเหรียญหนึ่งด้านหลังเรียบไม่มีคำจารึก จึงได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหรียญประชันอาวุธ และเหรียญรางวัลการประชันอื่นๆ ในงานวัดเบญจมบพิตร ซึ่งได้อ้างอิงจากหนังสือ “ เมื่อสมัย ร ๕ ” ของอาจารย์เอนก นาวิกมูล ที่น่าสนใจดังนี้
คือ ร.๕ ทรงเริ่มสร้างวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อพศ๒๔๔๒ ครั้นเมื่อถึงเดือนธันวาคมปีรุ่งขึ้น คือ พศ.๒๔๔๓ จึงมีการฉลองเสนาสนะ หรือที่อยู่ของพระอันเพิ่งสร้างแล้วเสร็จ มีการจัดงานออกร้าน ถือเป็นการเริ่มต้นของงานวัดเบญจมบพิตร ซึ่งถือเป็นงานวัดของเจ้านาย งานฉลองนี้เริ่มมีตั้งแต่ปีพศ๒๔๔๓ เรื่อยมาประจำทุกปี จนจืดจางหายไปในราวสมัย ร.๗ แต่ประเด็นสำคัญ ซึ่งท่านอาจารย์ผู้เขียนได้ค้นคว้าจาก หนังสือรายงานการจัดของแต่ละปี ภาคต่างๆซึ่งใช้ชื่อนำว่า “ รายการพระราชกุศลในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ” ตามด้วยภาคเท่านั้นเท่านี้ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเหรียญประชันฯ ซึ่งผมขอคัดย่อมาเฉพาะที่เกี่ยวข้องดังนี้
๑. งาน พศ.๒๔๔๘ จัดระหว่างวันที่ ๙ ถึง ๑๓ ธันวาคม รศ.๑๒๔ เป็นปีที่มีการจัดประชันรูปถ่าย ซึ่งหนังสือกล่าวว่า “ เป็นครั้งแรกที่เคยมีการประชันรูป ” มีการให้รางวัลเป็นเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง รวมถึงมีการพิมพ์ชื่อรูป และผู้ถ่ายไว้
๒. งานประชันอาวุธ รศ.๑๒๕ ตามที่ได้แจงไว้ในต้นกระทู้แล้ว
๓. งาน พศ.๒๔๕๐ จัดระหว่างวันที่ ๑๗ ถึง ๒๑ ธันวาคม รศ.๑๒๖ ซึ่งมีการประกวดบอน ซึ่งริเริ่มโดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตร์อุดมศักดิ์ และมีการกำหนดรางวัลชั้นที่๑ เหรียญทอง สามเหรียญ ชั้นที่๒ เหรียญนาก หกเหรียญ และชั้นที่๓ เหรียญเงิน ๑๒ เหรียญ
ประกอบกับ เมื่อตอนที่ได้เหรียญคู่นี้มา ได้นำไปตรวจสอบกับพ่อค้า และนักสะสมที่มีความชำนาญ ( พูดง่ายๆคือเอาไปแห่น่ะครับ ) ได้รับข้อมูลจากเซียนดังท่าพระจันทร์ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าเหรียญนี้น่าจะมีการพระราชทานอยู่หลายปี มิใช่เฉพาะรศ๑๒๕ ผมเลยได้ข้อสันนิษฐานว่า เหรียญอันที่ไม่มีคำจารึกนี้ อาจจะเป็นเหรียญในการประชันอื่น ในปีรศ อื่นก็เป็นได้
อนึ่ง เหรียญแบบมีคำจารึก ขอให้ดูตัวอย่างรูปเปรียบเทียบได้ในหนังสือ ” เหรียญบนแผ่นดิน ร๕ ” หน้า ๒๗๘ ส่วนแบบไม่มีคำจารึก ขอให้ดูจากหนังสือ “ ทรัพย์แผ่นดินสยาม ” หน้า ๒๑๖ ถึง ๒๒๑ อันที่จริง ในหนังสือ “ ทรัพย์แผ่นดินสยาม ” ระบุถึงเหรียญที่ไม่มีคำจารึกว่าออกในปีรศ.๑๒๔ ด้วยซ้ำไป
*อนึ่ง จากการค้นคว้าเพิ่มเติมในรายการพระราชกุศล ในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่ ๑๕ รศ.๑๒๖ มีการรายงานจำแนกประเภทอาวุธที่เข้าร่วมประชันในงานปีรศ ๑๒๕ เป็น ๕ ประเภท คือ สาตราวุธยาว ( นับจำนวนอาวุธที่เข้าประกวดได้ ๑๔๒ ชิ้น ), สาตราวุธสั้น นับได้ ๑๙๐ ชิ้น ปืนสั้นแลยาว นับได้ ๖๐ ชิ้น มีดต่างๆ นับได้ ๔๕ ชิ้น และสาตราวุธเบ็ดเตล็ด นับได้ ๓๕ ชิ้น รวมทั้งสิ้น ๔๗๒ ชิ้น
ในตอนท้ายของบันทึก มีแสดงรายชื่อผู้ได้รับเหรียญรางวัลจากการประชันอาวุธ เป็นเหรียญทอง ๓ รางวัล เหรียญเงิน ๒๔ รางวัล และที่เหลือทั้งหมดได้เหรียญทองแดง จึง เท่ากับมีเหรียญทองแดงที่พระราชทานทั้งหมด ๔๔๕ เหรียญ
และในหนังสือรายการพระราชกุศล ในการสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ภาคที่ ๑๓ รศ.๑๒๔ มีบาญชีรูปถ่ายที่เข้าประชันในปีรศ ๑๒๔ ได้รับรางวัลเหรียญทอง ๕ เหรียญ รางวัลเหรียญเงิน ๓๐ เหรียญ และเหรียญทองแดงอีกจำนวนหนึ่ง ( ไม่ได้ระบุไว้ )
ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ กลม แบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญริมขอบมีพระปรมาภิไธย “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ”
ด้านหลัง รอบวงเหรียญมีลายกนก กลางเหรียญมีพื้นที่ว่างสำหรับจารึกตัวอักษร
ชนิด ทองคำ เงิน และ ทองแดง
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๗ มิลลิเมตร