Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท

พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท

พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน

เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พศ๒๔๑๙ ทรงพระราชทานเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระที่นั่งทั้งสองแห่ง


เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พศ๒๔๑๙ เหรียญที่นำมาลงนี้เป็นเนื้อเงิน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๖ มม ครับ พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท ในปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญของพระราชวังบางปะอิน

เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมไทยเพียงหลังเดียว ที่ตั้งอยู่โดดเด่นท่ามกลามสถาปัตยกรรมตะวันตก ถ้าจำไม่ได้ว่าเป็นตึกใด ให้นึกถึงภาพศาลาทรงไทยที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ที่เราเห็นในรูปถ่ายวังบางปะอินบ่อยๆน่ะครับ


ส่วนพระที่นั่งวโรภาษพิมานเป็นพระที่นั่งศิลปกรีกแบบคอรินเธียน มีความสำคัญคือ ร๕ ทรงเคยใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการยามที่เสด็จหัวเมือง และงานพระราชพิธีต่างๆ ด้านหน้า เป็นตรา จปร ด้านหลังเป็นรูปพระที่นั่งฯ

ตัวอย่างเหรียญที่ ๑

ตัวอย่างเหรียญที่ ๒

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
รูปขยายแสดงรายละเอียดในจุดต่างๆ

รูปนี้ถ่ายเปรียบเทียบกับเหรียญงานโสกันต์ที่มีผิวสีเงิน ด้านหลังที่เป็นตรา จปร จะเป็นสีดำคล้ำรอบๆ แต่ตรงกลางยังคงเป็นสีเงินอยู่ ด้านนี้น่าจะเป็นด้านที่ถูกวางคว่ำไว้
ภาพพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ถ่ายสมัย ร.๕ สังเกตุว่าพระที่นั่งมีการต่อเติม ต่างจากรูปที่ปรากฏอยู่หน้าเหรียญเล็กน้อย

ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : มีรูปพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ริมขอบมีข้อความว่า “การเฉลิมพระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ณ เกาะบางปอิน แขวงกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโปราณ ปีชวด อัฐศกศักราช ๑๒๓๘”
ด้านหลัง : พระปรมาภิไธยย่อ “จปร”
ชนิด : เงิน ทองแดง ดีบุก (เหรียญลองพิมพ์)
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 66 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๓ เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

พ.ศ.๒๔๒๓ เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

พ.ศ.๒๔๒๓* (ร.ศ. ๙๙) เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

เหรียญที่ระลึกเปิดเหมือง จัดเป็นหนึ่งในเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่๕ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในบรรดานักสะสม เนื่องจากเป็นเหรียญที่มีรูปลักษณ์สวยงาม และแปลกตา กล่าวคือ ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้ายกับเหรียญกษาปณ์ “บาทหนึ่ง” ที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. ๒๔๑๙ (ร.ศ.๙๕) ส่วนด้านหลัง เป็นข้อความภาษาฝรั่งเศส ว่า “MINES DE KHAOTREE, GetT” นอกจากนี้ ตัวเหรียญยังมีลักษณะที่ผ่านการผลิตขึ้นรูปอย่างปราณีตสวยงาม คาดว่าน่าจะเป็นเหรียญที่ผลิตจากต่างประเทศ เพื่อเป็นที่ระลึกในการเปิดเหมืองแร่แห่งหนึ่งในประเทศสยาม ในยุคนั้น

อย่างไรก็ดี เหรียญเปิดเหมืองนี้ เป็นเหรียญที่สืบค้นประวัติความเป็นมาได้ยากยิ่ง การอ้างอิงปี พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นเพียงการอ้างอิงข้อมูลตามบริษัทประมูลระดับโลก Heritage Coin เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถค้นคว้าข้อมูลลงลึกในระดับปฐมภูมิ เช่นพระราชกิจจานุเบกษามายืนยันได้ และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ หากแต่ภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฎอยู่ด้านหลังเหรียญน่าจะพอทำให้เชื่อได้ว่าเป็นกิจการเหมืองแร่ที่ลงทุนโดยนักลงทุนชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ จากการค้นคว้าจากประทานบัตรเหมืองแร่ ในสมัยรัชกาลที่๕ พบว่าการลงทุนทำเหมืองแร่ในยุคนั้นส่วนมากเป็นเหมืองแร่ดีบุกทางภาคใต้ รวมถึงแร่วุลแฟรม และมีประทานบัตรเหมืองทองคำเพียงบางส่วนเช่น ในเขตหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ และบางส่วนทางภาคตะวันออก

ด้านหน้าเหรียญ

ด้านหลังเหรียญ

คำบรรยายภาพ : เหรียญเปิดเหมืองเนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง
คำบรรยายภาพ: เหรียญเปิดเหมืองเนื้อบรอนซ์กะไหล่ทอง

ข้อมูลจำเพาะ

ด้านหน้า : พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศพลเรือน มีอักษรรอบขอบเหรียญว่า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า ด้านหน้าเหรียญนี้ ทำลักษณะเดียวกับเหรียญเงิน บาทหนึ่ง ที่ประกาศใช้ในปีร.ศ.๙๕ แต่พระบรมรูปมีความคมลึก สวยงามกว่ามาก หากแต่ ตัวอักษรรอบขอบเหรียญกลับมีการแกะตัวอักษรที่ไม่สมบูรณ์ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะช่างผู้แกะพิมพ์เป็นชาวต่างประเทศ และไม่รู้ภาษาไทย และขาดขั้นตอนการพิสูจน์ตัวอักษร อาจเพียงใช้เหรียญเงิน บาทหนึ่ง เป็นตัวอย่างในการออกแบบ
ด้านหลัง : มีอักษรรอบขอบเหรียญว่า MINES DE KHAOTREE, GetT
ขอบเหรียญ: มีเฟืองโดยรอบ
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ มิลลิเมตร
ชนิด : เนื้อบรอนซ์ , เนื้อบรอนซ์กะไหล่ทอง, เนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง ด้านหลังมีทั้งชนิดดาวดวงใหญ่ และดาวดวงเล็ก

หมายเหตุ : เนื้อบรอนซ์ หมายถึงโลหะผสมทองแดงกับดีบุก ซึ่งส่วนประกอบหลักจะเป็นโลหะทองแดง โดยมีดีบุก และโลหะชนิดอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สามารถแยกย่อยได้หลายประเภทขึ้นกับสัดส่วนผสมของดีบุกและโลหะผสมอื่นๆในเนื้อทองแดง เช่นเนื้อบรอนซ์บางชนิดที่นำมาผลิตเป็นภาชนะในสมัยโบราณเป็นที่รู้จักและเรียกกันในเมืองไทยว่า สำริด เนื้อทองเหลือง หมายถึงโลหะผสมทองแดงประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบหลัก รองจากทองแดงเป็นสังกะสี

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พระราชทานแก่ผู้ที่ช่วยเหลือพยาบาลผู้ป่วยอหิวาต์ ซึ่งระบาดหนัก ในเดือนสาม ปีระกา พศ 2424 ในเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้มีการรักษาพยาบาลแบบสมัยใหม่แทนการทำพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีต โดยเริ่มด้วยการจัดตั้งสถานพยาบาลและบำบัดโรคชั่วคราวขึ้นที่ตำบลวังหลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี (ภายหลังกลายมาเป็นโรงพยาบาลศิริราช) และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอในขณะนั้น คิดวิธีปรุงยารักษาโรคคล้ายแบบฝรั่งขึ้น เหรียญชนิดนี้ที่พบเห็นมีสองเนื้อ คือทองแดง ซึ่งพบมากกว่า ส่วนในรูปเป็นเหรียญเงิน ซึ่งพบเห็นน้อยกว่า เนื้อเงินพระราชทานผู้ที่ช่วยในการนี้ มีจารึกชื่อลงในพวงมาลัย มีรายพระนามและรายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญจารึกชื่อนี้ ๔๘ คน พระราชทานตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๒๔

อนึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลอองธุลีพระบาทได้มีใจสวามิภักดิจัดการโรงรักษาไข้ ให้สำเร็จทันโดยพระราชประสงค์ เป็นความชอบความดีในพระองค์เป็นอันมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเงินเป็นรางวัลที่ระฦก มีดิปลัมมากำกับด้วย ข้อความในดิปลัมนั้นมีความดังที่ได้คัดลงมาดังนี้

สมเด็จ

พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

พระจุลจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม


ทรงพระราชดำริห์ว่า (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีกรมหลวงจักรพรรดิพงษ์) ได้รับฉลองพระเดชพระคุณจัดการตั้งโรงรักษาคนเจ็บอหิวาตกโรค ณ กรุงเทพฯ ในเดือนแปด เดือนเก้า ปีมเสงตรีศกโดยมีน้ำใจจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลมีความเมตตาเพื่อนชาติมนุษย์ด้วยกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเงินมีรูปเทพยดาถือพวงมาไลย จาฤกชื่อแลบอกเหตุการ ให้เป็นที่ระฦกในการที่ได้ตั้งทำครั้งนี้ ขอจงมีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

พระราชทานตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนสิบ แรมสิบสี่ค่ำ ปีมเสงตรีศกศักราช ๑๒๔๓ เป็นปีที่ ๑๔ ฤๅวันที่ ๔ ๗๐๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
(ทรงเซ็นพระราชหัตถเลขา)

สยามินทร์

ในดิปลัมมานั้นมีความดังนี้เหมือนกันทุกฉบับ เปลี่ยนแต่ชื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเท่านั้น จำนวนผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักพรรดิพงษ์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภาณุพันธุ์วงษ์วรเดช ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงค์ศักดิ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศนเลอสรร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรรณาการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบันฑิตย์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ๑ พระองค์เจ้าสายสินิทวงษ ๑ พระองค์เจ้าขจรจรัศวงษ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงค์ ๑ พระยาภาศกรวงษ ๑ เปลี่ยนภรรยาพระยาภาศกรวงษ ๑ พระยาเทพประชุม ๑ พระยาอนุชิตชาญไชย ๑ พระยานรรัตนราชมานิต ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ พระยารัตนโกษา ๑ พระยาไชยสุรินทร์ ๑ พระยามหามนตรี ๑ พระยาสมุทบุราณุรักษ ๑ พระยาสมุทสาครานุรักษ ๑ พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ ๑ พระอินทรเทพ ๑ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ๑ พระพิเทศสันตรพานิช ๑ พระสยามนนทเขตรขยันปลัดเมืองนนทบุรี ๑ หลวงสิทธินายเวร ๑ หลวงเดชนายเวร ๑ หลวงนฤศรราชกิจ ๑ หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา ๑ ขุนศรีสุพรรณ ๑ หมื่นสฐานไพรชน ๑ หมื่นสวัสดิภักดี ๑ สมิงชำนาญบาญชี ๑ ดอกเตอปีเตอกาแวน ๑ มิศเตอเฟรตริกซอลอมอน ๑ นายสุ้นน้องพระชลธาร ๑ มิศเตอเบอนหาศกริม ๑ บาบูรัมซามิพราหมณ์ ๑ รวม ๔๘ คน

ตัวอย่างเหรียญ ชนิด ต่างๆ

  • เหรียญอหิวาตกโรค เนื้อเงิน
  • เหรียญอหิวาตกโรค เนื้อทองแดง

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า เป็นรูปเทวดาเหาะ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาถือพวงมาลาด้านซ้าย มีข้อความว่า “ปีมแสงตรีศก ๑๔” ด้านขวามีข้อความว่า “จุลศักราช ๑๒๔๓”
ด้านหลัง มีข้อความว่าอยู่ในพวงมาลาว่า


“พระราชทานรางวัล
เปนที่รฦก
ในการรักษา
คนเจบอหิวาตกโรค”


ชนิด เงิน และ ทองแดง
ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 62 มิลลิเมตร

Ref ๑.ราชกิจจานุเบกษา จ.ศ. ๑๒๔๓ หน้า ๕๐-๕๒
๒. ปฎิทินโหราศาสตร์ ๒๔๑๗-๒๔๗๙ หน้า ๒๖๔

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญที่ระลึกหอพระสมุดวชิรญาณ

พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญที่ระลึกหอพระสมุดวชิรญาณ

พ.ศ.๒๔๒๕ เหรียญที่ระลึกหอพระสมุดวชิรญาณ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างเหรียญวชิรญาณ เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในคราวพระราชพิธีเปิดหอพระสมุดวชิรญาณ ที่ทรงคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พศ2425 แต่เกิดมีอุปสรรคในการก่อสร้าง จึงเลื่อนกำหนดออกไปเกือบสองปี จึงได้มีพิธีเปิดชั่วคราวที่ห้องชั้นต่ำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ 13 เมษายน พศ2427 อย่างไรก็ดีไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนว่า ได้พระราชทานเหรียญวชิรญาณ ในพระราชพิธีการเปิดหอพระสมุดชั่วคราว ครั้งนี้หรือไม่
เหรียญที่นำมาลงให้ดูเป็นชนิดทองแดง มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คู่กับพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีชื่อ เบนซอน ปรากฎอยู่ใต้พระรูป(ผู้ผลิตเหรียญ) ตัวเหรียญจริง สภาพผิวเดิมยังปรากฎอยู่ให้เห็นบริเวณตัวอักษรรอบขอบเหรียญ

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ด้านหลังจารึกปีจุลศักราช1244 ซึ่งเท่ากับปีพศ2425 อนึ่ง พระหอสมุดฯ แล้วเสร็จ และเปิดเป็นทางการในปีพศ 2432
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระดับพระอุระ ผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ ใต้พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรจารึกว่า “เบนซอน”
ริมขอบเป็นพระปรมาภิไธย “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ด้านหลัง : มีพระมหาพิชัยมงกุฎพิมพ์นูนอยู่เบื้องบน ให้พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นรูปโบว์เล็กทอดชายคลี่ออกทั้งสองข้าง
กลางเหรียญเป็นแพรแถบม้วนหัวท้าย จารึกอักษร “หอพระสมุดวชิรญาณ” ใต้แพรแถบมีเลขศักราช “๑๒๔๔” ทางด้านซ้าย และขวาประดับด้วยพวงมาลา 2 ช่อ ผูกติดกันด้วยโบว์
ชนิด : เงิน ทองแดง
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 48 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V เหรียญพระราชทานผู้ช่วยในการแนชันนาลเอกษฮิบิชัน - เหรียญที่ ระลึกเหยญแรก ที่มีพระรูปของ พระ บรมราชเทวี

พ.ศ.๒๔๒๕เหรียญพระราชทานผู้ช่วยในการแนชันนาลเอกษฮิบิชัน – เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่มีพระรูปของพระบรมราชเทวี

พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญพระราชทานผู้ช่วยในการแนชันนาลเอกษฮิบิชัน – เหรียญที่ระลึกเหรียญแรก ที่มีพระรูปของพระบรมราชเทวี

นปี พ.ศ. ๒๔๒๕ อันเป็นปีที่ครบ ๑๐๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์โปรกเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีสมโภชพระนครและมีกิจกรรมหลายอย่าง กิจกรรมอย่างหนึ่งซึ่งนับเป็นสีสันของงาน คือ จัดให้มีงานพิพิธภัณฑ์เป็นการนำสินค้าพื้นเมืองของสยามมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการให้ประชาชนชม ที่เรียกว่า “เอ็กซ์ฮิบิเชน” (Exhibition) ที่ท้องสนามหลวงซึ่งคล้ายกับการแสดงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันนี้โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช๒๔ ทรงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจัดงาน


ทั้งนี้ให้มีการเตรียมการล่วงหน้า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นเวลา ๑ ปี โปรดเกล้าฯ ให้ชักชวนประชาชนให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ดดยนำสิ่งของมาร่วมจัดแสดงอีครั้งหนึ่งเพื่อต้องการให้ประชาชนได้ระลึกถึงของต่างๆ ที่ผลิตได้ในสมัยนั้นเป็นของหายากใน ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา ประชาชนควรยินดีที่บ้านเมืองเจริญขึ้น งานนี้เริ่มในวันที่ ๒๖ เมษายน จนถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๒๕ เป็นเวลา ๕๒ วัน ในวันเปิดงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถ ประทับพลับพลาจตุรมุข ณ ท้องสนามหลวงทรงประกาศเปิดงานและพระราชดำเนินทอดพระเนตรสิ่งของต่างๆ ที่นำมาจัดแสดง


เรื่อง ราวเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ คาร์ล บ็อค ได้บันทึกรายละเอียดไว้ในหนังสือ ทำให้เราทราบว่าในงานนี้มีการสร้างประรำด้วยไม้ไผ่หลายหลัง มีรั้วไม้ไผ่กั้นโดยรอบและแบ่งเป็นห้องๆ ของที่นำมาแสดงมีประมาณ ๔๐ ชนิด มีของน่าชมอยู่หลายห้อง เช่น เครื่องเพชร พลอย เครื่องเงิน การแสดงหุ่นในเครื่องแต่งกายแบบต่างๆ ภาพเขียน เครื่องมุข เครื่องจักสาน งาช้าง เครื่องมือประมง แร่ธาตุต่างๆ อาวุธ เหรียญและเงินโบราณ ตลอกจนพืชพันธุ์ ของป่า

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ในการฉลองพระราชพิธีสมโภชพระนครครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกหลายประเภทในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการนี้ ได้สร้างเหรียญที่ระลึกอย่างหนึ่งเรียกว่า เหรียญที่ระลึก พระราชทานผู้ช่วยในการแนชันนาลเอกษฮิบิชัน (National Exhibition) สำหรับพระราชทานแก่ผู้ช่วยงาน เป็นเหรียญขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เหรียญนี้ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรก ที่มีพระรูปของพระบรมราชเทวี

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

เหรียญที่นำมาให้ดู เป็นทั้งชนิดเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง

ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปครึ่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาบรมราชเทวีผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่อง “มหาสวามิศราบดี” แห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงสายสร้อยมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุฬจอมเกล้า ซึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจักรีบรมราชวงศ์นี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนั้น เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพะบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ในวาระที่ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ครบ ๑๐๐ ปี ส่วนพระบรมรูปของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พะรบรมราชเทวีทรงเครื่อง “มหาสวามินี” ประดับดารา ช้างเผือกหรือมงกุฏไทยริมขอบ เป็นพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยจุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราชสว่างวัฒนาบรมราชเทวี
ด้านหลัง ตอนบนของเหรียญเป็นรูปมหาจักรีประกอบด้วยจักร ๑๐ กลีบ กลีบจักรเวียนซ้าย เปล่งรัศมีโดยรอบมีรูปตรีศูลระหว่างกลีบจักรกลางวงจักรเป็นรูปปทุมอุณาโลมอันเป็น พระราชสัญลักษณ์พะบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกตอนกลางของเหรียญเป็นรูปเทวดาสององค์ยืนบนแท่นถือพระขรรค์ และยึดชายผ้าองค์ละมุม ตอนกลางผ้าเว้นว่างเพื่อจารึกชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลผ้านี้อยู่เหนือช้างไอราพตยืนบนแท่นเดียวกันอันหมายถึงพระราชอาณาจักร ริมขอบมีข้อความว่า “การแนชั่นนาลเอกษฮิบิชัน” ณ. ท้องสนามหลวงกรุงเทพฯ ๑๒๔๔ ตอนล่างมีข้อความว่า “สำหรับพระราชทานผู้ช่วยในการ” และมีลายดอกไม้อยู่ล่างสุด
ชนิด เงิน – ทองแดง
ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 59 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พ.ศ.๒๔๒๕ (จ.ศ.๑๒๔๔) เหรียญที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เหรียญที่ระลึกในการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือนักสะสมหลายท่านเรียกเหรียญฉลองวัดพระแก้วครบร้อยปี เป็นเหรียญที่ระลึกสร้างในวโรกาสที่ฉลองพระนครครบร้อยปี


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฯให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้น และจัดให้มีงานฉลองไปพร้อมกับการสมโภชน์พระนคร จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญนี้ขึ้นเพื่อพระราชทานให้แก่ผู้มาช่วยเหลือในงาน อนึ่ง เหรียญนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 71 มม ซึ่งจัดเป็นเหรียญขนาดใหญ่ที่สุด ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕

หมายเหตุ เหรียญนี้มีปลอมเยอะมาก บล็อคปลอมมีการแต่งแม่พิมพ์จนกระทั่งตัวหนังสือ และพระรูป มีลายเส้นลึกกว่าของจริง จนดูแข็งกระด้าง ของจริงจะดูพริ้วเป็นธรรมชาติกว่า
และเนื้อทองแดงของแท้ มักจะมีรอยร้าว แยกตามขอบเหรียญ คงเป็นมาตั้งแต่ตอนผลิตแล้ว รวมถึงขอบเหรียญก็แตกต่างกัน ลองสังเกตุจากภาพขยาย

ตัวอย่างเหรียญ ชนิด ต่างๆ

  • เนื้อเงิน
  • เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
  • เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน
  • เนื้อทองแดงในกล่องไม้

ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ 
: กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้ายของเหรียญ ฉลองพระองค์พลเรือน
(แบบที่เรียกว่า “เสื้อยันต์”) ทรงสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พระมหาสังวาล์ยนพรัตน์ราชวราภรณ์ ทรงสายสร้อยมหาจักรีบรมรชาวงศ์ (สายบน) ถัดลงมาเป็นสายสร้อยจุลจอมเกล้า และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทย ริมขอบเป็นพระปรมาธิไธย
“สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริบัตร วรขัติราชบิโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราช บรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ด้านหลัง : เป็นภาพวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านทิศตะวันออกเบื้องล่างมีข้อความว่า “ การฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุลศักราช ๑๒๔๔ ” ริมขอบมีข้อความว่า “เป็นที่รฤกในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ” ซึ่งชำรุดปฏิสังขรณ์มาช้านาน ตั้งแต่วันที่ ๓ฯ๑ ๒ ค่ำปีเถาะ เอกศก ๑๒ ถึงวัน ๓ฯ๑๖ ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก๑๕ แล้วเสร็จบริบูรณ์
ชนิด : ทองคำ – เงิน – ทองแดง
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 71 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๖ (จ.ศ.๑๒๔๕) เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ ๔ เสมอรัชกาลที่ ๒

พ.ศ.๒๔๒๖ (จ.ศ.๑๒๔๕) เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ เสมอรัชกาลที่ ๒

พ.ศ.๒๔๒๖ เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๒

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า ทางซ้ายเป็นรูปอาร์มมีพระจุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) เปล่งรัศมีอยู่บนพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางขวาเป็นรูปอาร์มมีครุฑทรงเครื่องยุคนาค ซึ่งเป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเลิศหล้านภาลัย
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ เสมอรัชกาลที่ ๒ เนื่องด้วยพระองค์ทรงครองราชย์เป็นปีที่ ๑๕ เสมอด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นับปีเดือนวันที่ครองราชสมบัติเสมอ ร.๒ ณ วันที่ ๑๕ สิงหาคม จ.ศ.๑๒๔๕ พ.ศ.๒๔๒๖
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ด้านหลัง กลางเหรียญมีข้อความว่า “จุลศักราช ๑๒๔๕” ริมขอบมีข้อความว่า “รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๒”
 
ชนิด : ทองคำ เงิน
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๓ มิลลิเมตร
สร้าง : พ.ศ. ๒๔๒๖
Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๘ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๔

พ.ศ.๒๔๒๘ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๔

พ.ศ.๒๔๒๘ เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสมอด้วย รัชกาลที่ ๔ จุลศักราช ๑๒๔๗ เนื่องในวโรกาสที่ ทรงเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๑๗ (ระหว่างปี พศ ๒๔๑๑ ถึง ๒๔๒๘) ซึ่งเสมอด้วยรัชกาลที่ ๔ (ระหว่างปี พศ ๒๓๙๔ ถึง ๒๔๑๑) นับได้ ๖,๓๗๒ วัน ณ วันที่ ๒ เมษายน ๒๔๒๙ (ปฎิทินปัจจุบัน)

เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้ มีพิมพ์ตื้น และผ่านการใช้งานมา ถึงกระนั้นก็ตามที เหรียญนี้ก็จัดเป็นเหรียญเสมอที่ค่อนข้างหาดูได้ยากกว่าเหรียญเสมออื่นๆ

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : เป็นรูปไข่ มีห่วงเชื่อม
ด้านหน้า : ตรงกลางโล่มีรูปช้างสามเศียร มีช่อพุทธรักษา ๒ ข้าง มีพระอุณหิศอยู่ด้านบน ภายในพระอุณหิศมีอุณาโลมอยู่เหนือโล่ มีอักษรรอบขอบเหรียญว่า “ที่รฤกรัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๔” และมีอักษรด้านล่างว่า “จุลศักราช ๑๒๔๗”
ด้านหลัง : ตรงกลางมีรูปโล่อยู่ ๒ โล่ โล่ด้านซ้ายเป็นตราจุลมงกุฎ รองพาน ๒ ชั้น โล่ด้านขวาเป็นตราพระมหามงกุฎ รองพานอย่างเดียวกัน มีพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และมีช่อชัยพฤกษ์รอบนอก มีพระขรรค์กับธารพระกรไขว้กันอยู่ และมีพระอุณหิศอยู่เบื้องบน
ชนิด : เงิน กะไหล่ทอง ทองแดง
ขนาด : กว้าง 31 มิลลิเมตร ยาว 38 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๒๙ (จ.ศ.๑๒๔๘) เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุ ณหิศ สยามกุฎราชกุมาร

พ.ศ.๒๔๒๙ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

พ.ศ.๒๔๒๙ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา ในปี พศ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้จัดงานพระราชพิธีสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ในขณะที่ทรงมีพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ๖ เดือน และการพระราชพิธีครั้งนั้น ได้จัดขึ้นตามโบราณราชประเพณีทุกประการ

อนึ่ง เกี่ยวกับจำนวนเหรียญที่มีการพระราชทานนั้น จากการค้นข้อมูลใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พบบันทึกในวันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ วันที่รัชกาล ๖๖๔๓ (๑๘ มกราคม พศ ๒๔๒๙) ขอคัดย่อข้อความบางส่วนที่เกี่ยวข้องมาดังนี้ “อนึ่ง เมื่อพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดี พระยาพระหลวง ข้าราชการในกรุงหัวเมือง เจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาทถวายคำนับหน้าพระที่นั่งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานแจกเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีมงคลนี้ทั่วกัน คือพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์แจกเหรียญสายข้างเหนือคืดฝ่ายพลเรือน พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์แจกสายข้างใต้คือฝ่ายทหาร เหรียญที่แจกคราวนี้เป็นเหรียญ ทอง กะไหล่ เงิน บรอนซ์ โตกว่าเงินบาทหน่อยหนึ่ง หนากว่าสัก ๒ เท่า เหรียญนั้นด้านหนึ่งเป็นพระรูปสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงเครื่องอย่างวันฟังสวด ทรงพระเกี้ยวจุฬาลงกรณ์ มีหนังสือรอบว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศรวรมหาจุฬาลงกรณ์ เติมสร้อย วิบูลย์สวัสดิ์ศิริวัฒน์วิสุทธิ์ สยามมกุฎราชกุมาร อีกด้านหนึ่งเป็นรูปแพสรงสนาน มีหนังสือว่า ที่รฦกการพระราชพิธีลงสรง เฉลิมพระปรมาภิไธย ปีจอ อัฐศก ศักราช ๑๒๔๘ มีจำนวนที่ได้พระราชทานในเวลาวันนี้ประมาณ ๑,๐๐๐ เศษหลายร้อย” จากข้อมูลนี้ทำให้ทราบทั้งวันที่พระราชทาน และจำนวนที่ทรงพระราชทานโดยประมาณ

เหรียญที่นำรูปมาลงให้ดูนี้ เป็นชนิดเงิน สภาพผิวเดิมยังคงอยู่ คราบที่เห็นเป็นเพียงคราบความเก่า แต่ผิวเหรียญทั้งสองด้านมิได้เป็นรอยใดๆ และเหรียญนี้ได้พระราชทานมาพร้อมกล่อง

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
สภาพด้านหลัง

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้เห็นผิวเดิมของเหรียญซึ่งเป็นลักษณะ proof คือเป็นการขัดเงาผิว แบบหนึ่ง ได้ชัดเจนขึ้น ของจริงจะออกสีปีกแมลงทับ
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

และภาพกล่องที่พระราชทานมาพร้อมกัน มีตราประจำพระองค์บนหน้ากล่อง ภาพถัดไปถ่ายคู่กับหนังสือจดหมายเหตุรายวัน ซึ่งเป็นบันทึกประจำวัน ของท่านเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ น่าทึ่งที่ทรงเริ่มบันทึกตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๕ พรรษา! แสดงถึงการได้รับการอบรมอย่างดีเยี่ยมจากพระราชบิดา และกล่องพระราชทานนี้ มีจารึกนามของผู้รับพระราชทานไว้ด้านในฝากล่องด้วย

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ภาพแพลงสรงจำลอง ที่ปรากฏอยู่หลังเหรียญ ชมได้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพ

ภาพ ร๕ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จประทับพลับพลาท้องสนามไชย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ พระราชทานเหรียญที่ระลึก ระหว่างพระราชพิธีสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในวันที่ ๑๘ มกราคม พศ ๒๔๒๙

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูปสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ผินพระพักตร์เฉียงทางซ้ายของเหรียญทรงเครื่องอย่างขัตติยราชกุมาร ทรงพระเกี้ยวยอดจุฬาลงกรณ์ ริมขอบเป็นพระปรมาภิไธย “ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศรวรมหาจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรย์ ขัตติยสันตติ อุกฤษพงษ์วโรโตสุชาติธัญญลักษณ์ วิลาศวิบูลย์ สวัสดิ์ศิริวัฒน์วิสุทธิ์ สยามมกุฎราชกุมาร ” ริมขอบล่างมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า “ W .E.J.GAND ”
ด้านหลัง : เป็นรูปหุ่นจำลองแพลงสรง ริมขอบบนมีข้อความว่า “ ที่รฦกการพระราชพิธีลงสรง เฉลิมพระปรมาภิไธย ” ริมขอบล่างมีข้อความว่า “ ปีจออัฐศกศักราช ๑๒๔๘ ” ริมขอบล่างมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า “ W .KULLRICH F ”
ชนิด : ทองคำ เงินกาไหล่ทอง เงิน ทองแดง
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 37 มิลลิเมตร

Categories
King Rama V พ.ศ.๒๔๓๑ (จ.ศ.๑๒๕๐) เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธี เฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

พ.ศ.๒๔๓๑ (จ.ศ.๑๒๕๐) เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธี เฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

พ.ศ.๒๔๓๑ เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธี เฉลิมพระสุพรรณบัฏ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

เหรียญที่ระลึก พระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัฏ สถาปนาเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นเป็นกรมขุนเทพทวาราวดี ปีพศ ๒๔๓๑ เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา ทรงศักดินา ๕๐,๐๐๐ ไร่ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

เหรียญนี้มีขนาด ศก ๓๗ มม หลายท่านเรียกว่า เหรียญจุกเดี่ยว หลังสิงห์ ขอบล่างด้านหน้า มีชื่อช่างแกะเหรียญ เป็นภาษาอังกฤษจารึกอยู่ เหรียญที่นำรูปมาลงให้ดูนี้ เป็นชนิดเนื้อทองแดงครับ

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

รูปแสดงชื่อช่างแกะพิมพ์เหรียญ (ผู้ผลิต) เป็นอักษรโรมันตัวจิ๋ว อยู่ทางขอบล่าง ด้านหน้าเหรียญ อนึ่ง เหรียญนี้มีการทำปลอมด้วยการ copy จากเหรียญจริงต้นแบบ แล้วทำแม่พิมพ์ปลอมด้วยเครื่อง EDM รายละเอียดจึงมีความใกล้เคียงกับของจริง แต่ตัวอักษรมักจะไม่คมชัด

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูปสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ผินพระพักตร์เฉียงทางซ้ายของเหรียญทรงเครื่องอย่างขัตติยราชกุมาร ทรงพระเกี้ยวยอดจุฬาลงกรณ์ ริมขอบเป็นพระปรมาภิไธย “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศรวรมหาจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรย์ ขัตติยสันตติ อุกฤษพงษ์วโรโตสุชาติธัญญลักษณ์ วิลาศวิบูลย์ สวัสดิ์ศิริวัฒน์วิสุทธิ์ สยามมกุฎราชกุมาร ” ริมขอบล่างมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า “ W .E.J.GAND ”
ด้านหลัง : เป็นรูปหุ่นจำลองแพลงสรง ริมขอบบนมีข้อความว่า “ ที่รฦกการพระราชพิธีลงสรง เฉลิมพระปรมาภิไธย ” ริมขอบล่างมีข้อความว่า “ปีจออัฐศกศักราช ๑๒๔๘” ริมขอบล่างมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า “ W .KULLRICH F ”
ชนิด : ทองคำ เงินกาไหล่ทอง เงิน ทองแดง
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 37 มิลลิเมตร