พ.ศ.๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๕) เหรียญที่ระลึกพระพุทธบาท สัจพันธ์บรรพต
เหรียญที่ระลึกพระพุทธบาท สัจพันธ์บรรพต (วัดพระพุทธบาท ราชวรมหาวิหาร เขาสุวรรณบรรพต จังหวัดสระบุรี) มีบันทึกเป็นหลักฐานในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่๒
ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่๕ ในวันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙) ความว่า
” …วันที่ ๒ สามโมงเช้าขึ้นรถไฟกรมนราไปพระบาท ทางเรียบร้อยดีกว่าแต่ก่อน ถมบาลัศเต็มไป จวนถึงฝนตกเรื่อยไปจนกระทั่งเดินขึ้นพระบาททั้งฝน มีเหตุสำหรับเป็นสวัสดิมงคล(๓) ((๓)ตั้งแต่เสด็จโดยรถรางพระพุทธบาท
เผอิญมีเหตุขัดข้องมาทุกคราว จึงดำรัสว่าเป็นสวัสดิมงคล) ในการต้องขลึก(๔) ((๔)ขลึก – ขัดข้อง) ๒ อย่างคือม่านที่กั้นกลางรถราวหลุดประการหนึ่งอีกสักเส้นหนึ่งจะถึงรถหลังตกรางเลยต้องลงไม่ถึงสเตชั่นมณฑปพระบาทรื้อเครื่องบนลงหมดมุงสังกะสีไว้ เหมือนสวมหมวกแฮลเม็ดน่าเกลียด ข้อที่แปลกนั้น
คือเห็นต้นไม้ที่พระบาทใบเขียวแลต้นเล็กน้อยขึ้นรกผิดกับเทศกาลที่เคยโกร๋นเกร๋น มีศาลาเมรุหลวงธุรการ(๑)
ปลูกอยู่ต้นทางเข้าไปหน้าหมู่กุฏิ ซึ่งเขาจัดเป็นที่พักกินข้าวแปลกขึ้นใหม่หลังเดียว นอกนั้นคงเดิม ถ่ายรูปออกจะทั้งฝนเกือบทั้งนั้น แล้วกลับมากินข้าวที่ศาลาที่ว่าแล้ว
กรมนราแจกแพรแถบพม่ากับตีน(๒) ((๒) บริษัทรถรางพระพุทธบาท ทำเป็นรูปพระพุทธบาทด้วยอลูมิเนียม สำหรับขายคนขึ้นพระบาทซื้อไปแขวนนาฬิกาเป็นที่ระลึก มักเรียกกันแต่ว่า “ตีน”) ชายมีมีดเงี้ยว ผู้หญิงมีอับเงี้ยว…”
บันทึกข้างต้น พร้อมคำอธิบายหมายเลข มีปรากฎอยู่ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่๒ ที่จัดพิมพ์ขึ้นตามพระปรารภของพระอรรคชายาเธอฯ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ เพื่อประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมีรับสั่งว่า
หนังสือเรื่องนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๑๗ ปีแล้ว ผู้ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องเสด็จครั้งนั้นมีมากด้วยกัน
ถ้าแห่งใดควรจะทำคำอธิบายหมายเลขให้เข้าใจความยิ่งขึ้นได้ ก็ให้ทำคำอธิบายหมายเลขด้วย อนึ่ง พระราชนิพนธ์จดหมายเหตุนี้ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์
โดยดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้านิภานภดลทรงเขียนไว้ ในเวลาสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน อยู่ในเวลาเมื่อเสด็จประพาสคราวนั้น
ในส่วนของบริษัทรถรางพระพุทธบาท ท.จ.ก. (ทุนจำกัด) นี้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างทางรถไฟเล็กเดินระหว่างท่าเรือกับพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี
(ตามหลักฐานปรากฎในราชกิจจานุเบกษา เล่ม๑๘ หน้า ๔๑๐) เรื่องประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถรางพระพุทธบาท ทุนจำกัด ณ วันที่ ๒๕ กันยายน ร.ศ.๑๒๐
และเริ่มเปิดให้บริการในปีถัดมา คือปีร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) และรัชกาลที่๕ ทรงเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาท แลพระราชทานพระกะฐิน โดยประทับรถรางพระพุทธบาท
ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๑ (ตามหลักฐานปรากฎในราชกิจจานุเบกษา เล่ม๑๙ หน้า ๖๗๒) จากช่วงเวลาดังกล่าว จึงสามารถคะเนได้ว่าเหรียญที่ระลึกพระพุทธบาทนี้
น่าจะมีการจัดสร้างครั้งแรกอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๔๕ ที่เริ่มให้บริการรถรางพระพุทธบาท ถึงราวปีพ.ศ.๒๔๔๙ ที่ทรงบันทึกถึงเหรียญพระพุทธบาทนี้ไว้ อนึ่ง บริษัทรถรางพระพุทธบาท
ในการต่อมาได้หยุดดำเนินกิจการและถูกถอนพระบรมราชานุญาตพิเศษ ในปีพ.ศ.๒๔๗๒ (รัชสมัย รัชกาลที่๗)
ลักษณะจำเพาะ
ด้านหน้า: เป็นรูปพระพุทธบาทจำลอง ตามลักษณะมงคล ๑๐๘ ประการ มีหูคล้องในตัวทางด้านปลายพระบาท
ด้านหลัง: มีคำจารึกเป็นอักษรมงคล ๖แถวว่าที่รลึก
กุศลศุภคุณ
ที่ได้ไปนมัสการ
พระพุทธบาท
วลัญชนเจดีย์ ถึง
สัจพันธ์บรรพต
อนึ่ง คำจารึกนี้ เป็นการสะท้อนถึงคติความเชื่อเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทตามแบบชาวลังกาทวีป
ชนิด: อลูมิเนียม และทองแดง
ขนาด: สูง ๔.๘ ซม. รวมหูคล้อง กว้าง ๑.๘ ซม.
ข้อมูลอ้างอิง:
๑) พระราชนิพนธ์จดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น ร.ศ.๑๒๕, ฉบับโปรดเกล้าให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ นายภาวาส บุนนาค วันเสาร์ที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๗
๒) ราชกิจจานุเบกษา เล่ม๑๘ หน้า ๔๑๐ และ เล่ม๑๙ หน้า ๖๗๒ (รัชกาลที่๕), เล่ม ๔๖ หน้า ๓๖๗ (รัชกาลที่๗)