พ.ศ. ๒๒๒๙ เหรียญโกษาปาน

พ.ศ. ๒๒๒๙ เหรียญโกษาปาน

เหรียญที่ระลึกพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซายส์

นิรันดร วิศิษฎ์สิน

คำบรรยายภาพ: เหรียญที่ระลึกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) พ.ศ. ๒๒๒๙ แบบที่ผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

เหรียญที่ระลึก พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นเหรียญที่ฝรั่งเศสผลิตขึ้นเป็นที่ระลึก ในคราวที่ออก พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า โกษาปาน ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ออกพระวิสุทธสุนทร ราชฑูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้ากรุงสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ เป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหรียญนี้มี ๓ แบบ กล่าวคือ

แบบแรกผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ เซนติเมตร

แบบที่ผลิตขึ้นย้อนยุคที่ผลิตขึ้นภายหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา อีก ๒ แบบคือ แบบ R ใหญ่ และ R เล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร

ข้อสังเกตุของเหรียญทั้ง ๓แบบนี้คือ ที่ขอบเหรียญที่ผลิตในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ไม่ได้ตอกตราหรือโค๊ด ทั้งนี้เนื่องจากโรงกระษาปณ์กรุงปารีสเริ่มตีตราที่ขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตราตำแหน่งผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์ มีทั้งหมด ๖แบบ ส่วนแบบ R เล็ก และ R ใหญ่ ตีตราแบบที่ ๖ มีชื่อว่า Cornucopia ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เหรียญแบบ R ใหญ่ ที่ทำย้อนยุค

เหรียญแบบ R เล็ก ที่ทำย้อนยุค

ด้านหน้า พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มีตัวอักษรภาษาละติน ความว่า

LUDOVICUS MAGNUS REX CHRISTIANISS เแปลว่าหลุยส์ มหาราชา ชาวคริสต์

LUDOVICUS เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง หลุยส์ ที่เป็นพระนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

MAGNUS คือ GREAT ในภาษาอังกฤษ แปลว่า มหาราช
REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระมหากษัตริย์
CHRISTIANISS เป็นชื่อเฉพาะ คือ CHRISTIAN ในภาษาอังกฤษ คือ ชาวคริสต์

ด้านหลัง ภาพพระยาโกษาธิบดี ( โกษาปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ มีตัวอักษรภาษาละติน สองบรรทัด

ORATORES REGIS SIAM แปลว่า ราชฑูตแห่งพระราชากรุงสยาม
M DC LXXXVI ปี ค.ศ. ๑๖๘๖

ORATORES คือ ENVOY หรือ AMBASSADOR ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ราชฑูต

REGIS หรือ REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์


SIAM เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง กรุงสยาม


M = ๑๐๐๐ DC =๖๐๐ LXXX = ๘๐ VI = ๖ หมายถึง ปีค.ศ. ๑๖๘๖ หรือ พ.ศ. ๒๒๒๙

ส่วนด้านบน มีตัวอักษรภาษาละตินความว่า

FAMA VIRTUTIS แปลว่า  เกียรติยศแห่งคุณความดี


FAMA คือ FAME ในภาษาอังกฤษ แปลว่า กิตติศัพท์ ชื่อเสียง เกียรติยศ

VIRTUTIS คือ EXCELLENCE หรือ VIRTUE ในภาษาอังกฤษแปลว่า คุณงามความดี


EXCELLENCY เป็นคำยกย่องผู้มีเกียรติยศสูง เช่น เอกอัครราชฑูต

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน )

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้รับการยกย่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นอย่างมากดังที่ปรากฏความในพระราชสาส์นของพระองค์ยินดีมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชความว่า การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระประสงค์ที่จะผูกไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนี้ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยให้สำเร็จได้สะดวกเท่ากับการที่พระองค์ทรงเลือกขุนนางไทยที่มีอัธยาศัยและความสามารถในราชการส่งมาปรึกษาการเมืองตรงต่อเราทีเดียว และราชกิจอันนี้ พระองค์ก็ได้ทรงกระทำสมใจเรานึกอยู่แล้ว อนึ่ง ว่าแต่การที่พระองค์ทรงเลือกสรรราชฑูตส่งมายังเราคราวนี้อย่างเดียว ก็เป็นพยานอ้างถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมของพระองค์ดีกว่าคำกล่าวเล่าลือใดๆ รามาสังเกตุดูลักษณะมรรยาทแห่งราชฑูตของพระองค์นี้รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิหยิบฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแผ่ความชอบแห่งราชฑูตของพระองค์บ้างก็จะเป็นการ อยุติธรรมไป เพราะราชฑูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ที่ถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละคำๆก็ดูน่าปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำฯ

นอกจากนี้ ท่านบาทหลวง เดอ ลา แชส ยังได้สรรเสริญพระยาโกษาธิบดี ( ปาน )ด้วย ดังความในสมณสาส์นมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า เจ้าคุณ ( โกษาปาน )ได้ปฏิบัติตนอย่างเฉลียวฉลาดและสุภาพเรียบร้อยทุกประการ เป็นที่พอใจของชาวฝรั่งเศสทั่วไป นับตั้งแต่ชั้นพลเมืองจนถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด อาตมาภาพได้เคยเห็นการต้อนรับราชฑูตของต่างประเทศมาแต่ก่อน ก็ ยังไม่เคยเห็นราชฑูตประเทศใดได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษเท่ากับราชฑูตที่พระองค์ส่งมาเจริญทางพระราชไมตรีคราวนี้เลย ฯพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงสยามเป็นอย่างมากทำให้ชาวฝรั่งเศสได้เห็นว่าเมืองไทยไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแต่มีวัฒนธรรมสูงส่ง

คำในภาษาละตินที่ว่า FAMA VIRTUTIS นี้มีความหมายได้สองนัยกล่าวคือ ๑) ใช้ยกย่องเป็นเกียรติยศแด่พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ราชฑูตกรุงสยามที่ได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ ตามหลักฐานที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ๒) ใช้ยกย่องพระเกียรติยศของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีพระเกีรติยศร่ำระบือไกลมาถึงกรุงสยาม

ด้านล่างของเหรียญยังมีตัวอักษรแสดงชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ

LI ที่ปราากฏบนเหรียญด้านหน้าใต้พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นตัวย่อของชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญที่ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

R ที่ปรากฏใต้พระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔บนเหรียญที่ทำย้อนยุคนั้นแต่เดิมเข้าใจกันว่ามาจากคำว่า Restrike แต่เมื่อได้ทำการสอบค้นจากผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสแล้วได้ความว่าเป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญนามว่า Joseph ROETTIERS ( ๒๑๗๘ – ๒๒๔๖ ) เป็นชาวเฟล็มมิช คือ ชาวดัทช์ เกิดในตระกูลช่างทองและช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เคยรับราชการในโรงกระษาปณ์หลวงอังกฤษ ( The Royal Mint ) ต่อมาได้รับราชการในโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monniae De Paris ) แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าช่างทำแม่พิมพ์เหรียญในปี พ.ศ. ๒๒๒๕

ส่วนด้านหลัง มีตัวอักษร MAUGER F เป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ Jean MAUGER ชาวฝรั่งเศส เกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๑ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น มีผลงานการทำแม่พิมพ์เหรียญสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มากมายได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างทำแม่พิมพ์เหรียญประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ( Medailliste du Roi ) Jean MAUGER เสียชีวิตเมื่อ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๒๖๕ อายุ ๗๔ ปี

บรรณานุกรม
– ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓ , ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐ ,โกษาปานไปฝรั่งเศส ภาค ๔ , คุรุสภา , ๒๕๑๒
– สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร , ชุมนุมเรื่องน่ารู้ , กทม , ๒๕๐๘ – GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
Email
On Key

Related Posts

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ EP1 | เหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ.๑๒๕ https://www.youtube.com/watch?v=gKf1rqiTXCg&list=PLseyPJqYT8qCaYHhzhvdMe-mu_7uJEj6R จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกไว้ว่างานวัดเบญเป็นงานที่สนุกมากและเป็นที่เลื่องลือของชาวพระนครในเวลานั้นและในปี พ.ศ.2449 ได้มีการประชันศาสตราวุธต่างๆเช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน กริช ปืน และขอช้าง เป็นต้น….”.เราจึงได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและที่มาของเหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ. ๑๒๕มา #เล่าเรื่องผ่านเหรียญ ให้ทุกคนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเพราะ #เหรียญที่ระลึกเปรียบเสมือนหลักกิโลทางประวัติศาสตร์

พ.ศ.๒๕๖๒ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า   โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๕๖๒ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลจำเพาะ ชนิดโลหะ เงิน ความบริสุทธิ์ 92.5% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 23 กรัม (ผลิตไม่เกิน 300,000 เหรียญ)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕) เหรียญ ส พ ป ม จ ๕ เป็นเหรียญรางวัลซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่แต่งซุ้มไฟประกวดในวัง เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีพศ 2413 ซึ่งทรงมีพระชนมายุ 17 พรรษา เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ ตามประวัติกล่าวไว้ว่าทรงพระราชทานเป็นเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง จำนวนที่โปรดเกล้าให้สร้าง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด