พ.ศ. ๒๔๔๗ (รศ ๑๒๓) เหรียญปฎิทิน จปร (Calendar 1904-1925)
หนึ่งในบรรดาเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ ที่หาดูยากที่สุด และมีนวัตกรรมด้านปฏิทิน ที่น่าทึ่งที่สุด ได้แก่ “เหรียญปฏิทิน” ที่สามารถใช้ดู วัน เดือน ปี ได้ถึง ๒๑ ปี คือระหว่างปีพศ ๒๔๔๗ ถึง พศ๒๔๖๘ (คศ 1904 – 1925)
เหรียญปฏิทินนี้ ด้านหน้าจะมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเป็นเหรียญพระราชทานจากรัชกาลที่๕ ตรงขอบด้านบนซ้ายมือมีคำจารึกว่า “เบนซอน” ส่วนขอบด้านบนขวามือจารึกว่า “ลอนดอน” จึงชัดเจนว่าผลิตโดย J.W Benson of London ซึ่งเป็นห้างทองประจำราชสำนักชั้นนำในยุคนั้นหลายแห่ง อาทิเช่น Queen Victoria, the Prince of Wales, the King of Siam (รัชกาลที่๕) และ the King of Denmark ตัวเหรียญทำจากอลูมิเนียม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๘ มม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของพระราชทานในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พศ๒๔๔๗ ซึ่งในยุคนั้น วันขึ้นปีใหม่ยังเป็นเดือนเมษายน
ด้านหลังเป็นปฎิทินแบบ Gregorian Calendar ซึ่งก็คือปฎิทินสากลทางสุริยคตินั่นเอง ตัวเหรียญด้านหลังนี้จะมีจานหมุนแผ่นบาง ยึดติดอยู่กับตัวเหรียญ เวลาจะใช้ปฎิทินก็เพียงหมุนชื่อเดือน ซึ่งอยู่ด้านบนของจานหมุนดังกล่าว ให้ตรงกับปี คศ ที่ต้องการจะดู โดยปีคศนี้ (1904-1925 หรือ พศ ๒๔๒๗ ถึง พศ ๒๔๖๘) จะปรากฎอยู่บนตัวเหรียญด้านหลัง ครั้นเมื่อหมุนให้เดือนตรงกับปีคศ ที่ต้องการจะดูแล้ว ด้านล่างของจานหมุนจะมีช่องเจาะไว้ แสดงวันจันทร์ถึงอาทิตย์ (ซึ่งวันในรอบสัปดาห์นี้จะปรากฎอยู่บนตัวเหรียญ) ซึ่งจะตรงกับวันที่ ในรอบเดือน ปีนั้นๆ ได้อย่างแม่นยำ และสามารถดูปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี ๒๙ วัน (leap year)ได้อย่างถูกต้องด้วย
ประดิษฐ์กรรม เหรียญปฎิทินแบบหมุน ๒๑ ปีนี้ นับเป็นผลงานอัจฉริยะที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่า J.W. Benson เป็นผู้ประดิษฐ์และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรอันน่าทึ่งนี้ หรือได้ซื้อลิขสิทธ์จากผู้อื่นมาทำการผลิตเพื่อการค้า จากการค้นคว้าพบว่ามีเหรียญปฏิทินปีคศ1904-1925 แบบเดียวกันนี้ จัดทำด้านหน้าเป็นตราสัญลักษณ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ และยังปรากฎตราสัญลักษณ์บริษัทชั้นนำในยุคนั้นด้วยเช่นกัน
จัดได้ว่าเหรียญปฏิทิน จปร นี้ เป็นหนึ่งในเหรียญรัชกาลที่๕ ที่ทรงคุณค่า ทั้งในแง่การเป็นเหรียญพระราชทานโดยตรงจากรัชกาลที่๕ และในด้านนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นเหรียญที่หาดูได้ยากมากอีกด้วย!