พ.ศ. ๒๔๕๘ เข็มราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม
เหตุการณ์ รศ.๑๑๒(พ.ศ.๒๔๓๖)เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวไทยตระหนักดีถึงความเจ็บช้ำที่เราต้องสูญเสียเขตแดนไป ชาติจักรวรรดินิยมในยุโรปในยุคนั้นได้พัฒนาอาวุธยุทธภัณฑ์ให้มีอำนาจการทำลายสูง ไม่มีชาติตะวันออกชาติใดที่สามารถต้านทานด้วยกำลังหอกดาบได้
แม้แต่ จีน และ อินเดีย มหาประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม มีอำนาจทางการทหารมาแต่อดีตกาล ยังต้องศิโรราบต่อชาติจักรวรรดินิยมยุโรปเหล่านี้ ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องยอมตกเป็นเมืองขึ้น ยอมเสียเปรียบทางการค้า เพื่อรอดพ้นจากการทำลายล้าง
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเครื่องเตือนใจชาวไทยทุกคนให้คิดช่วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เพื่อป้องกันประเทศ อันมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า ๑,๕๐๐ ไมล์ ที่ต้องมีกำลังทางเรือที่เข้มแข็ง ไม่ให้ชาติใดมารุกรานได้
นับเป็นการใช้นโยบายทางการฑูตด้วยพระปรีชาสามารถ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปในปี รศ.๑๑๖ และ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐ และ ๒๔๕๐) ทรงสร้างสัมพันธไมตรีกับจักรวรรดิรัสเซียและรัสเซีย อันเป็นประเทศมหาอำนาจในยุโรป
เพื่อคานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสที่กำลังจะยึดภาคใต้ของเราตั้งแต่บางสพานไปจนตลอดแหลมมลายูและจากนั้นก็เฉือนประเทศไทยออกทีละส่วนจนหมดสิ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่พระองค์ทรงรักษาแผ่นดินส่วนใหญ่ให้พ้นจากเงื้อมมือของชาติจักรวรรดินิยมทั้งสอง รักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ชาติเดียวในแถบนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ไม่นาน ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรป ในเดือนสิงหาคม ๒๔๕๗ เพื่อรักษาความสงบสุขของประชาชน จึงทรงรักษาความเป็นกลาง ขณะเดียวกันก็ทรงติดตามข่าวสารโดยตลอด
แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ์
ศัตรูกล้ามาประจัญ จักอาจสู้ริปูสลาย
(พระราชนิพนธ์ ปลุกใจเสือป่า)
ด้วยความสำนึกในพระราชนิพนธ์ปลุกใจเสือป่า ที่ทรงตระหนักถึงภัยอันตรายอาจเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นในยามสงบจึงควรเตรียมพร้อมไว้เพื่อรับมืออริราชศัตรูได้ทุกเมื่อ จึงในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้มีข้าราชการ และ ประชาชนผู้จงรักภักดีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความเห็นว่า ประเทศไทย มีชายฝั่งทะเลยาวกว่า ๑,๕๐๐ไมล์ แม้กิจการกองทัพเรือได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาแล้วก็ตาม
ยังขาดเรือรบที่มีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้จัดเรี่ยไรทุนทรัพย์จัดหาเรือรบขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พร้อมทั้งจัดตั้งสมาคมขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางโดยมีอำมาตย์เอก เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. ลบ สุทัศน์) เป็นประธาน ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเรือว่า “พระร่วง”
อันเป็นพระนาม วีรกษัตริย์ แห่งกรุงสุโขทัย และพระราชทาน นามสมาคมว่า “ราชนาวีสมาคม แห่งกรุงสยาม THE ROYAL NAVY LEAGUE OF SIAM” พร้อมรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท
พร้อมทั้งเงินที่เหลือจากงานพระราชพิธีทวีธาภิเษก เมื่อรัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัตินานนับวันได้เป็น ๒ เท่าของรัชกาลที่ ๔ ปี รศ.๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) พร้อมดอกผลเป็นเงิน ๑๑๖,๓๒๔ บาท เป็นทุนประเดิม ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ อันเป็นวันแรกตั้งสมาคม
คณะกรรมการสมาคมได้จัดพิมพ์คำชักชวนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมเป็นสมาชิกและสละทรัพย์สิน เพื่อรวบรวมกันจัดหาเรือพระร่วง ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๕๗ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ๔๐,๐๐๐ บาทด้วย
เมื่อราชนาวีแห่งกรุงสยามได้จัดตั้งขึ้นแล้ว คณะกรรมการได้จัดสร้างดวงตราประทับชาดดวงหนึ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ ซ.ม. เป็นลายรูปช้างป่าลิไลย์นั่งแทบฝั่งน้ำงวงชูหม้อน้ำ มีอักษรที่ขอบเบื้องบนว่า “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม” ใช้ประทับเป็นเครื่องหมายสำคัญ ในการกิจการสมาคม และ ได้ออกวารสาร “สมุทสาร”
เพื่อเผยแพร่วิชาการทหารเรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ลงพิมพ์ในวารสารนี้หลายคราว เช่น สุภาษิตพระร่วง เป็นกลบท ตอนหนึ่ง
นา วีประหนึ่งรั้ว ริมฝั่งทเลแฮ
วา ระเมื่อศึกยัง สงบไซร้
ของ เครื่องกอบกำลัง ควรจัด พร้อมนา
สยาม จึ่งคิดจักให้ จัดสร้างนาวี
นาม มีปรากฏแล้ว เรือลาด กระเวนแฮ
ว่า พระร่วงเหมือนราช กั่นกล้า
พระ องค์พระเก่งกาจ แกล้วกั่น ฉันใด
ร่วง จุ่งช่วยเรือข้า กาจแม้นนามกร
(สะกดการันต์ตามต้นฉบับ)
นายชิต บุรทัต ได้แต่งโคลงกระทู้วิชชุมมาลาคำฉันท์ เรื่อง “ชาติปิยานุศร” เพื่อเชิญชวนชาวไทยเข้าเรี่ยไร สร้างเรือพระร่วงถวายด้วยดังความตอนหนึ่ง
เชิญ ไทยอย่าทอดทิ้ง ธูรบำ รุงเทอญ
เข้า ส่วนธนสารสำ หรับเกื้อ
เรี่ย รายแต่ตามกำ ลังแห่ง ตนแฮ
ราย ละมากน้อยเอื้อ ออกให้กรรมการฯ
สร้าง ยุทธยามแกว่นแกล้ว กลางมหา สมุทแฮ
เรือ พระร่วงรณพาห์ เพื่อไว้
รบ สู้ศัตรูมา หมายเบียฑ เบียฬแฮ
ถวาย พระจอมมกุฎไซร้ อุทิสด้วยกตัญญู
เมื่อสมาคมได้เริ่มรับบริจาคเงินมาได้ครบรอบ ๑ ปี ในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๕๘ ได้จัดสร้างเข็มราชนาวีสมาคม ขึ้นเพื่อสมนาคุณแก่สมาชิกผู้บริจาคทรัพย์ใช้ติดเสื้อหรือสไบ มีชั้นเดียวและได้ประกาศในพระราชบัญญัติเข็มราชนาวีสมาคม
พระราชบัญญัติเข็มราชนาวีสมาคม
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า กรรมการราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามได้สร้างเข็มขึ้นอย่างหนึ่ง มีรูปแลลักษณ คือ เปนรูปช้างหมอบงวงชูหม้อน้ำ ขอบเปนลายกนกมีอักษรจารึกทางขอบขวาว่า “ราชนาวีสมาคม” ทางขอบซ้ายว่า “แห่งกรุงสยาม” ทำด้วยเงินมีขนาดคือ
ก. วัดตามเส้นดิ่งแต่ยอดเข็มถึงที่สุดขอบล่างได้ ๔๕ มิลิเมเตอร์
ข. วัดตามเส้นผ่าศูนย์กลางกว้าง ๓๐ มิลิเมเตอร์
กับมีแพรแถบสีแดงชาดทำเปนรูป ๔ เหลี่ยม กว้าง ๒๗ มิลิเมเตอร์ ยาว ๔๕ มิลิเมเตอร์ สำหรับสอดติดกับเข็มสำหรับให้สมาชิกและสมาชิกาของราชนาวีสมาคมใช้ติดเสื้อฤากลัดสไบเป็นเครื่องประดับ
เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าผู้นั้นๆได้เป็นสมาชิกฤาสมาชิกของราชนาวีสมาคม กรรมการราชนาวีสมาคมขอพระราชทานพระบรมเดชานุภาพ เป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน เพื่อมิให้ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกฤาสมาชิกาของ ราชนาวีสมาคมใช้เข็มนี้เป็นเครื่องประดับ เพื่อปลอมว่าตนเป็นสมาชิกฤาสมาชิกาของราชนาวีสมาคมแห่งนี้ได้
ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมาคมนี้ได้จัดตั้งขึ้นด้วยความปรารถนาจะอุดหนุนราชการทหาเรือซึ่งเป็นราชการส่วนหนึ่งของรัฐบาลสยาม แลได้ทรงรับไว้ใน พระบรม ราชูปถัมป์แล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะทอดพระราชอาณาปกครองเข็มนี้ให้มีเกียรติคุณโดยพิเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้ดังนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติเข็มราชนาวีสมาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ แลให้ใช้ได้ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ เป็นต้นไป
มาตรา ๒ เข็มของราชนาวีสมาคม ซึ่งมีรูปแลลักษณดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ให้ใช้ประดับสำหรับเป็นเครื่องหมายแห่งสมาชิกฤาสมาชิกาของราชนาวีสมาคมนี้โดยเฉพาะ แลเข็มนี้มีชั้นเดียวกันทั่วไป
มาตรา ๓ ผู้ที่เป็นสมาชิกฤาสมาชิกาของราชนาวีสมาคมจะใช้เข็มนี้กลัดเสื้อ ฤากลัดสไบเป็นเครื่องประดับได้ทุกเมื่อ ถึงแม้เวลาแต่งเครื่องแต่งกายตามยศทหารฤายศพลเรือน ก็ให้ใช้ประดับเข็มนี้ด้วยได้
มาตรา ๔ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มิได้เป็นสมาชิดฤาสมาชิกา ของราชนาวีสมาคมใช้เข็มนี้เป็นเครื่องประดับเป็นอันขาด
มาตรา ๕ ผู้ที่เป็นสมาชิกฤาสมาชิกาของราชนาวีสมาคมนี้แล้วภายหลังได้ขาดจากสมาชิกฤาสมาชิกาแล้วตามข้อบังคับของสมาคมนั้นแล้ว ในระหว่างเวลานั้นจะใช้เข็มนี้เป็นเครื่องประดับไม่ได้ ต่อเมื่อผู้นั้นได้กลับเข้าเป็นสมาชิก ฤาสมาชิกาของราชนาวีสมาคมตามข้อบังคับของสมาคมนั้นแล้ว จึงให้ใช้เข็มนี้เป็นเครื่องประดับได้ต่อไป
มาตรา ๖ ห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใด สร้างเข็มนี้ขึ้นด้วยความประสงค์อย่างใดๆ โดยมิได้รับอนุญาตจากกรรมการาชนาวีสมาคมเป็นลายลักษณ์อักษร
มาตรา ๗ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ให้ลงโทษผู้นั้นฐานสร้าง ฤาประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปลอม
มาตรา ๘ ให้เสนาบดีมุรธาธรเป็นเจ้าน่าที่รักษาพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัตินี้ตราไว้แต่ ณ วันที่ ๑ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๘ เป็นวันที่ ๑๘๔๗ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
กิจการของสมาคม ได้แพร่หลายไปทุกมณฑลทั่วประเทศ ประชาชนทั่วพระราชอาณาจักรต่างร่วมกันบริจาคทรัพย์เพื่อจัดซื้อเรือหลวงพระร่วง เพื่อใช้ป้องกันพระราชอาณาจักรยอดเงินบริจาคถึงสิ้นเดือนธันวาคม ๒๔๕๘ อันเป็นเวลาเพียง ๑ ปี ๑ เดือนเป็นเงินถึง ๑,๗๙๓,๙๙๔.๘๕ บาท
ครั้นถึงปีพ.ศ.๒๔๖๓ ได้เงินรวม ๒,๕๙๑,๒๔๖.๖๕บาท กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอีก เป็นเงินรวมทั้งสิ้นถึง ๓,๕๑๓,๙๐๔.๐๑ บาท แล้วคณะกรรมการจึงเห็นพร้อมกันทูลเชิญ นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เสนาธิการและเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็น
ข้าหลวงพิเศษเดินทางไปคัดเลือกเรือรบได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด นามว่า“เรเดียนท์” สร้างโดย บริษัท ธอร์นิครอฟท์ ประเทศอังกฤษ ขนาดระวางขับน้ำ ๑,๐๔๖ ตัน ยาว ๘๓.๕๗ เมตร กว้าง ๘.๓๔ เมตร กินน้ำลึก ๔ เมตร อาวุธปืนใหญ่ ขนาด ๑๐๒ มม. ๓ กระบอก ๗๖ มม. ๑ กระบอก ต่อมา ติดปืน ๔๐ มม. ๒ กระบอก ๒๐ มม.
๒ กระบอก ตอร์ปิโดขนาด ๒๑ นิ้ว จำนวน ๔ ท่อ มีรางปล่อยระเบิดน้ำลึกและมีแท่นยิงระเบิดน้ำลึก ๒ แท่น ใช้เครื่องจักรไอน้ำชนิด บี ซี เกียร์ เทอร์ไบน์ ๒ เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง ๒๙,๐๐๐ แรงม้า ความเร็วสูงสุด ๓๕ น๊อต ความเร็วมัธยัสถ์ ๑๔ น๊อต มีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ ๑,๘๙๖ ไมล์ ทหารประจำเรือ ๑๓๕
นายเรือลำนี้สร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๙ ครั้นสงครามยุติลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ แล้ว อังกฤษยินดีขายให้ในราคา ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ หรือประมาณ ๒,๑๕๐,๐๐๐ บาท เงินที่เหลือจากการซื้อเรือนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่กองทัพเรือสำหรับใช้สอย
เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา
ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย
แม้ใครตั้งจิตคิดรักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน
ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน
ชาติใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งไรก็ไร้ผล
แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร
ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา
เพราะฉะนั้นชวนกันสวามิภักดิ์ จงรักร่วมชาติศาสนา
ยอมตายไม่เสียดายชีวา เพื่อรักษาอิสระคณะไทย
สมานสามัคคีให้ดีอยู่ จะสู้ศึกศัตรูทั้งหลายได้
ควรคิดจำนงจงใจ เป็นไทยจนสิ้นดินฟ้า
เอกสารอ้างอิง
– สารานุกรม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม ๑ และ ๒, อนุสรณ์ วันพระบรมราชสมภพครบ ๑๐๐ ปี ๑ มกราคม ๒๕๒๔, กรุงเทพฯ ๒๕๒๔
– ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม, สมุทสาร, หนังสือจดหมายเหตุแถลงการณ์ของราชนาวีสมาคมแห่ง กรุงสยาม แล รวมเรื่องอันเนื่องด้วยการทหารเรือทั่วไป
– มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดุสิตสมิต เล่ม ๙ ฉบับที่ ๙๓,๙ ตุลาคม ๒๔๖๓, พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคต, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ กรุงเทพฯ ๒๕๓๖
– ดุสิตสมิต ฉบับพิเศษ สำหรับงานต้อนรับเรือพระร่วง, กรุงเทพฯ, ๑๖ ตุลาคม ๒๔๖๓
– จมื่นอมรดรุณารักษ์ ( แจ่ม สุนทรเวช ) , เสือป่าและลูกเสือในประวัติศาสตร
ตอน ๑ , องค์การค้าของคุรุสภา