Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 ชุดเหรียญราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน รัชกาลที่๕ (เหรียญย่อ)

ชุดเหรียญราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน รัชกาลที่ ๕ (เหรียญย่อ)

ชุดเหรียญราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน รัชกาลที่๕ (เหรียญย่อ)

เหรียญราชอิสริยาภรณ์ชนิดย่อส่วน ใช้ประดับในการแต่งเครื่องแบบเพื่อร่วมงานราตรีสโมสร ซึ่งเป็นประเพณีนิยมมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ จวบจนรัชกาลปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากงานราตรีสโมสรในสมัยก่อนมักจะมีการลีลาศ ซึ่งการประดับเหรียญและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปกติอาจเกิดความไม่สะดวก จึงนิยมประดับเหรียญชนิดย่อส่วนแทน

คำบรรยายภาพ: เหรียญราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน จากซ้ายไปขวา เหรียญรัตนาภรณ์ วปร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว), เหรียญรัชฎาภิเษกมาลา (เหรียญเปลือย), เหรียญประพาสยุโรปครั้งที่๑, เหรียญทวีธาภิเศก, เหรียญรัชมงคล, เหรียญรัชมังคลาภิเศก, และเหรียญบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
คำบรรยายภาพ: เหรียญรัชฎาภิเศกมาลาย่อส่วน 
คำบรรยายภาพ: เหรียญรัชมังคลาภิเศกย่อส่วน

สำหรับระเบียบการประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ชนิดย่อส่วน ขอทำการคัดย่อ และเรียบเรียงจาก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย, สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ Website Thai Royal Navy ดังนี้

วิธีประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เครื่องแบบสโมสร 
ชึ่งเป็นเครื่องแต่งกายแบบเต็มยศ สำหรับเวลาค่ำที่เรียกว่า Full Dress Tuxedo หรือ White Tie ให้ปฏิบัติดังนี้

  • ๑. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดประดับหน้าอกเสื้อ สำหรับเครื่องแบบสโมสร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน ขนาด ๑ ใน ๓ ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน ที่ปกเสื้อเบื้องซ้ายของเสื้อชั้นนอก ใต้เครื่องหมายสังกัดพองาม หากไม่มีเครื่องหมายสังกัด ให้ประดับที่ปกเสื้อพองาม
  • ๒. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอมีดารา สำหรับเครื่องแบบสโมสร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน โดยไม่ย่อส่วนหากได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ หรือชนิดคล้องคอมีดาราหลายดวง ให้ประดับเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่มีลำดับเกียรติสูงสุดเท่านั้น โดยคล้องดวงตราให้แพรแถบ อยู่ใต้ผ้าผูกคอ ส่วนดาราให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายด้านนอก
  • ๓. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดสายสะพาย สำหรับเครื่องแบบสโมสร ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน โดยให้สวมสายสะพายทับเสื้อตัวใน โดยไม่สวมสายสร้อย
  • ๔. การแต่งกายเครื่องแบบสโมสรที่มีหมายกำหนดการระบุ ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้รับพระราชทาน โดยไม่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ย่อส่วน ทหารหญิงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญในโอกาสที่แต่งเครื่องแบบทหาร ให้ใช้ห้อยทับแพรแถบ และประดับเช่นเดียวกับ ทหารชาย ในโอกาสที่นัดหมาย ให้ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทเหรียญ ให้ประดับเหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ เท่านั้น เช่น เหรียญชัยสมรภูมิ เหรียญพิทักษ์เสรีชน เหรียญจักรมาลา เหรียญที่ระลึกต่าง ๆ ห้ามนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกประเภทมาประดับ
Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๒๔ (ร.ศ.๑๐๐) เหรียญสตพรรษมาลา หรือ เหรียญ ๕ รัชกาล

พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๐) เหรียญสตพรรษมาลา หรือ เหรียญ ๕ รัชกาล

พ.ศ. ๒๔๒๔ (ร.ศ.๑๐๐) เหรียญสตพรรษมาลา หรือ เหรียญ ๕ รัชกาล

จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก (เรียกกันง่ายๆว่าเหรียญแพรแถบ) ใช้อักษรย่อ ส.ม. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ.๑๐๐ (พ.ศ.๒๔๒๔) สำหรับเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกในการสมโภชครบร้อยปี ของการสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี โดยถือวันฝังหลักพระนครในวันที่ ๒๑ เมษายน พศ ๒๓๒๕ มาครบร้อยปีแรก

เหรียญสตพรรษมาลาที่พบเห็นมีหลายเนื้อโลหะคือ เหรียญทอง เงิน เหรียญทองแดง เหรียญเงินกะไหล่ทอง เหรียญทองแดงกะไหล่เงิน (กะไหล่ หมายถึงวิธีการแบบหนึ่งในการเคลือบสิ่งที่เป็นโลหะ ด้วยเงิน หรือทอง ) พระราชทาน ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ชนิดทองพระราชทานตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้า และชั้นเจ้าพระยาขึ้นไป ส่วนชนิดเงินและทองแดงพระราชทานแต่ผู้ที่รองแต่ชั้นนั้นลงมา เหรียญสตพรรษมาลาเป็นเหรียญรูปกลมแบนขนาดเขื่อง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖.๓ ซม ที่ขอบมีรัศมีโดยรอบ ๒๐ แฉก เหรียญนี้ใช้ห้อยกับแพรแถบสีแดงกับขาว กว้าง ๓.๕ ซม ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้ เป็นเนื้อเงินกะไหล่ทอง ด้านหน้าเป็นพระบรมรูปตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ซ้อนกัน

ส่วนด้านหลัง มีข้อความบ่งบอกวัตถุประสงค์การจัดงานพิธี อนึ่ง จากหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย จัดทำโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

เหรียญสตพรรษมาลา เนื้อเงิน

เหรียญสตพรรษมาลา เนื้อบรอนซ์

มีข้อสังเกตุบางประการเกี่ยวกับเหรียญนี้
๑) ลักษณะชื่อ เบนซอน ใต้พระรูปต้องคมชัด ตามรูป
๒) เหรียญแท้ ที่เป็นเนื้อเงินหายากมากครับ ที่พบ มักจะเป็นทองแดง กะไหล่เงิน หรือเปียกเงินหนา ชนิดแยกแทบไม่ออก ระวังซื้อผิดราคาครับ
๒) เท่าที่สังเกตุดู พบว่า เหรียญนี้ (ชนิดแพรแถบ) มีอย่างน้อย 2 บล็อค คล้ายกันมาก แต่ต่างตรงปลายรัศมีแฉกขอบเหรียญ น้ำหนักก็ต่างกันพอสมควร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

พ.ศ.๒๔๒๕ เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มกล้าหาญ

จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก (เรียกกันง่ายๆว่าเหรียญแพรแถบ) ใช้อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ) เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พศ๒๔๒๕ อันเป็นมหามงคลสมัยซึ่งบรรจบครบรอบร้อยปีที่หนึ่ง นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ และทรงเริ่มพระบรมราชจักรีวงศ์สืบรัตนราไชยมไหศวรรย์ยั่งยืนต่อมาจนถึงรัชกาลของพระองค์ท่าน ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยยศ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนามว่า “เครื่องราชอิยริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ดำรงรักษาราชประเพณี และรักษาความสามัคคีในราชตระกูลยั่งยืนรุ่งเรืองสืบมา พร้อมกันนั้นทรงมีพระราชดำริว่า ข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดี มีความสามารถ ทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ราชการนั้น ควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศด้วย จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้สร้างเหรียญเครื่องประดับชื่อ “ดุษฎีมาลา” สำหรับพระราชทานทหาร พลเรือนตามความดีความชอบ

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พศ๒๔๒๕ กำหนดให้มีเข็มพระราชทาน ประกอบกับเหรียญรวม ๕ ชนิด สำหรับใช้กลัดติดกับแถบแพร เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณสมบัติพิเศษตามสาขาความชอบแห่งผู้ได้รับพระราชทาน ดังนี้

๑ เข็มราชการในพระองค์,  ๒ เข็มราชการแผ่นดิน, ๓ เข็มศิลปวิทยา, ๔ เข็มความกรุณา, ๕ เข็มกล้าหาญ

จากการค้นคว้าในพระราชบัญญัตติ เครื่องอิศริยศ สำหรับความดีความชอบ เหรียญดุษฎีมาลา พบมาตราที่เกี่ยวข้องกับเข็มกล้าหาญระบุไว้ดังนี้ (ใช้ภาษาตามต้นฉบับเดิม)….

….มาตรา ๑๑ เข็มที่ จาฤก ว่า กล้าหาญนั้น

ไว้สำหรับพระราชทานออฟฟีชเชอร์นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งบกและเรือ แลข้าราชการที่เข้ากองทับกับทหารไปรเวทลูกเรือกระลาสีในเรือรบหลวง แลขุนหมื่นกรมการไพร่หลวงไพร่สม ที่เข้ากองทับรับราชการต่อสู้ฆ่าศึกศัตรู ได้กระทำการแขงแรงสำแดงความกล้าเปนการปรากฏต่อสู้ฆ่าศึกศัตรูโดยความภักดี ป้องกันรักษบ้านเมืองเปนที่เกิดของตน จึ่งจะพระราชทานเข็มที่จาฤกว่ากล้าหาญ ให้ตามเหตุการที่กำหนดต่อลงไปดังนี้

ข้อ ๑ ถ้ากองทับบกทับเรือก็ดี ได้กระทำการรบต่อสู้ฆ่าศึกศัตรูโดยความกล้าหาญต่อหน้าแม่ทับนายกองก็ดี ก็ให้แม่ทับนายกองจดชื่อออฟฟีชเชอร์ แลทหารแลความกล้าที่ได้กระทำนั้น มีไบบอกให้นำกราบบังคมทูลพระกรุณาโดยเร็ว ทรงทราบความแล้วจะทรงพระราชดำหริห์เหนสมควร ที่จะพระราชทานเหรียญดุษดีมาลา แลเขมไปให้แม่ทับนายกองผู้บังคับการ พระราชทานผู้มีความชอบประดับตัวในที่ประชุมทหาร แลอ่านคำประกาศที่ผู้มีความชอบได้กระทำสำแดงความกล้าหาญให้ทราบทั่วกัน แลให้แม่ทับนายกองจดชื่อ แลความดีความชอบไว้ในสมุดสำหรับกองทับ แล้วให้คัดสำเนาส่งมายังออฟฟีชหลวง เจ้าพนักงานจะได้คัดลงในสมุดสำหรับเหรียญดุษดีมาลา แล้วส่งสำเนาไปลงในราชกิจจานุเบกษา เสมอทุกคราวพระราชทานไป

ข้อ ๒ ถ้าผู้ที่ได้ทำการสำแดงความที่ได้กล้าหาญมิได้อยู่ในที่ต่อหน้าแม่ทับ ผู้บังคับการดังกล่าวมาแล้ว ผู้ที่สำแดงความกล้า อยากจะได้รับพระราชทานเกียรติยศอันนี้แล้ว ก็ได้แจ้งความตามที่ตนได้กระทำทดลองทุกอย่าง ให้เปนที่เชื่อยินดีแก่กัปตันนายกองนายร้อยที่ตนอยู่ในบังคับ ให้จดหมายแจ้งความไปยังผู้บังคับกองทับตามเหตุการ ซึ่งทหารนายกองของตนได้สำแดงความกล้าหาญ แม่ทับกับนายกองพิจารณาเหนสมควรแล้ว ก็ให้มีใบบอกขอมายังเสนาบดีตามกรมขึ้นนำกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริห์เหนชอบแล้ว ก็จะพระราชทานให้แล้วให้แม่ทับนายกองประพฤฒการตามบังคับไว้ในข้อ ๑

ข้อ ๓ ถ้าทหารบกก็ดีเรือก็ดี เปนหมู่กันไม่เกินกว่า ๕๐ คน ฤๅกองทับกองใดกองหนึ่งที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า กอมปนี ตรุบสควด ดรอนแบลกเลียน รยิเมนต์ บริเคด หนึ่งใดก็ดี ได้สำแดงความกล้าหาญด้วยกันทั้งหมู่ทั้งกอง ยากที่จะเลือกผู้ที่กล้าหาญองอาจได้ แล้วก็ให้แม่ทับนายกองที่บังคับหมู่กองนั้น บังคับให้ออฟฟีชเชอร์เลือกกันเอง ตามออฟฟีชเชอร์นายหนึ่ง นอนกอมมิชันออฟฟีชเชอร์เลือกในพวกกันเอง ๒ นาย ไพร่ทหารเลวเลือกในพวกกันเอง ๔ นาย ที่ควรจะได้รับเหรียญประดับความชอบนี้ เมื่อออฟฟีชเชอร์และทหารเลือกได้ผู้ที่ควรจะได้รับเหรียญเครื่องประดับแล้ว ให้จดชื่อมอบให้แก่แม่ทับนายกองๆ มีใบบอกส่งมายังผู้บังคับการใหญ่ฝ่ายทหาร ฤๅตามกรมขึ้นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำหริห์เหนสมควรแล้วจะพระราชทานให้

ข้อ ๔ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใด ได้สำแดงความกล้าหาญเปนการที่นอกจากกำหนดไว้ ตามบังคับทั้ง ๓ ข้อ แต่การนั้น เปนเหตุปรากฏที่สมควร ซึ่งจะได้เหรียญเครื่องประดับนี้ ก็ให้อรรคมหาเสนาบดีกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงพระราชดำริห์วินิจฉัยเหนชอบแล้วที่จะพระราชทานให้ตามความชอบความควร แต่การที่เกิดดังนี้ ผู้ที่จะได้รับรางวันนั้นต้องทดลองชี้แจงสำแดงความให้ปรากฏว่า ได้กระทำความกล้าหาญจริงแท้ตามคำขอ

ข้อ ๕ ถ้าผู้ที่ได้รับเหรียญเครื่องประดับนี้ มิใช่ออฟฟีชเชอร์ที่มีตราตั้ง แลข้าราชการซึ่งมีสัญญาบัตรแล้ว เปนแต่นอนกอมมิชันออฟฟีชเชอร์ แลทหารไปรเวทกรมการขุนหมื่นไพร่หลวงไพร่สม ก็จะพระราชทานเบี้ยหวัดให้เปนเบี้ยเลี้ยง ให้ปีละ ๑๒ ตำลึงจนตลอดอายุ ถ้าได้ทำความชอบโดยความกล้าหาญอีก ได้รับพระราชทานเข็มเดิมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ที่จะพระราชทานเบี้ยหวัดเปนเบี้ยเลี้ยงเพิ่มให้อีก ๖ ตำลึง ทุกๆคราวความชอบที่ได้รับพระราชทานเข็มเพิ่มเติม

ข้อ ๖ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใด ได้สำแดงความกล้าหาญ ซึ่งควรจะได้รับพระราชทาน เหรียญเครื่องประดับนี้แล้วมุนนายผู้บังคับการบดบังความชอบเสีย หาเสนอให้ไม่นั้น ที่ให้ผู้นั้นทำฎีกาทูลเกล้าฯถวาย จะโปรดเกล้าฯให้มีตระถาการสืบพิจารณาให้ได้ความจริง ทรงพระราชดำริห์วินิจฉัยเหนสมควรแล้ว ก็จะพระราชทานให้ต่อพระหัตถ์
จากการค้นคว้าในพระราชกิจจานุเบกษา พบหลักฐานการพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มกล้าหาญ จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับเข็มศิลปวิทยา


หมายเหตุ: ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร สำหรับความเอื้อเฟื้อด้านข้อมูลพระราชบัญญัตติ เครื่องอิศริยศ สำหรับความดีความชอบ เหรียญดุษฎีมาลา

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑ เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มศิลปวิทยา

พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มศิลปวิทยา

พ.ศ.๒๔๒๕ (ร.ศ.๑๐๑) เหรียญดุษฎีมาลา หรือเหรียญทรงยินดี และเข็มศิลปวิทยา

จัดเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก (เรียกกันง่ายๆว่าเหรียญแพรแถบ) ใช้อักษรย่อ ร.ด.ม. (ศ) เป็นเหรียญบำเหน็จความชอบในราชการซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พศ.๒๔๒๕


อันเป็นมหามงคลสมัยซึ่งบรรจบครบรอบร้อยปีที่หนึ่งนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯและทรงเริ่มพระบรมราชจักรีวงศ์สืบรัตนราไชยมไหศวรรย์ยั่งยืนต่อมาจนถึงรัชกาลของพระองค์ท่าน ในครั้งนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยยศ เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีนามว่า “เครื่องราชอิยริยยศอันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์”

สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ดำรงรักษาราชประเพณี และรักษาความสามัคคีในราชตระกูลยั่งยืนรุ่งเรืองสืบมา พร้อมกันนั้นทรงมีพระราชดำริว่าข้าราชการที่ได้รับราชการมาด้วยดีมีความสามารถทำคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ราชการนั้นควรจะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศด้วย


จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้สร้างเหรียญเครื่องประดับชื่อ “ดุษฎีมาลา” สำหรับพระราชทานทหาร พลเรือนตามความดีความชอบ

ตามพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พศ๒๔๒๕ กำหนดให้มีเข็มพระราชทาน ประกอบกับเหรียญรวม ๕ ชนิด สำหรับใช้กลัดติดกับแถบแพร เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงคุณสมบัติพิเศษตามสาขาความชอบแห่งผู้ได้รับพระราชทาน ดังนี้
๑. เข็มราชการในพระองค์,
๒. เข็มราชการแผ่นดิน
๓. เข็มศิลปวิทยา
๔. เข็มความกรุณา
๕. เข็มกล้าหาญ

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้ มีเข็มศิลปวิทยากลัดติดมาในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เหรียญนี้พระราชทานมาพร้อมกล่องตราแผ่นดิน ด้านในระบุผู้จัดทำเหรียญไว้ชัดเจนว่า Wyon แห่ง London แต่เหรียญในยุครัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะผลิตโดย Benson (เบนซอน)

เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

จากการค้นคว้า ในหนังสือ “เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา” ซึ่งจัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เนื้อหาภายในจะระบุถึงรายนามผู้ได้รับพระราชทาน และวัน เวลา ที่ได้รับพระราชทานด้วย
นับจำนวนเหรียญชนิดทองคำได้ ๑๙ เหรียญ เงิน และเงินกะไหล่ทองได้ ๒๐๐ กว่าเหรียญ

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : ทรงกลมรี
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางซ้ายของเหรียญ ใต้พระรูปมีอักษรโรมันตัวจิ๋วว่า J.S. & A.B. WYON SC
ด้านหลัง : เป็นรูปพระสยามเทวาธิราช ทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ตราแผ่นดิน พระหัตถ์ขวาทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกชื่อผู้ได้รับพระราชทาน
ชนิด : ทองคำ กะไหล่ทอง และเงิน
ขนาด : ขนาดกว้าง ๔.๑ ซม สูง ๔.๖ ซม

หมายเหตุ ปัจจุบันยังไม่พ้นสมัยพระราชทาน แต่เหรียญในยุคปัจจุบันมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม และรายละเอียดบางส่วนต่างไปจากเดิม

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ. ๒๔๓๕ (ร.ศ. ๑๑๑) เหรียญโรงเรียนราชกุมาร

พ.ศ. ๒๔๓๕ (ร.ศ. ๑๑๑) เหรียญโรงเรียนราชกุมาร

พ.ศ. ๒๔๓๕ (ร.ศ. ๑๑๑) เหรียญโรงเรียนราชกุมาร

โรงเรียนราชกุมาร ได้ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นศึกษาสถานพิเศษสำหรับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ แลหม่อมเจ้าบางพระองค์ จะได้ทรงศึกษาในวิชาต่างๆ มีวิชาหนังสือไทย แลหนังสือภาษาต่างประเทศ แลวิชาเลข วิชาภูมิศาสตร์ เป็นต้น ตามสมควรแก่ขัตติยราชตระกูล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์ มอรันต์ (รอเบิร์ต แอล. มอรันต์) พระอาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ) เป็นผู้จัดการโรงเรียนนี้ และมีสถานภาพเป็นโรงเรียนพิเศษ มิได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงธรรมการดั่งเช่นโรงเรียนอื่นๆ สถานที่ตั้งของโรงเรียน อยู่ที่หลังพระตำหนักสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ภายในพระบรมมหาราชวัง

โรงเรียนราชกุมารนี้ เปิดในวันที่ ๗ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก๒๕ ๑๑๑ เวลาเช้า ๓ โมง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระดำเนินขึ้นพระตำหนักสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จขึ้นทางบันไดใหญ่ ตรงออกประตูไปประทับที่โรงพัก (พับพลาราชพีธี) นักเรียนซึ่งเข้าแถวยืนประทับพร้อมอยู่ที่นั่น ถวายคำนับแล้วขับพรรณาพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้นทรงเสด็จไปถึงประตูโรงเรียน แล้วทรงชักผ้าที่คลุมแผ่นกระดาษ มีอักษรนามโรงเรียน พระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชกุมาร” หลังจากนั้นจึงทอดพระเนตรนักเรียนฝึกหัดออกกำลังกาย ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักเรียน และพระอาจารีย์ และทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมรูปอย่างใหญ่ กับนาฬิกาพกแก่มิสเตอร์มอรันต์เป็นกำเหน็จ ในตอนค่ำยังมีการเลี้ยง รวมถึงการแต่งกายแบบแฟนซี อีกด้วย (ข้อมูลข้างต้น อ้างอิงจาก ราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่๕ เล่ม๙ หน้าที่ ๓๘๑ ถึง ๓๘๒)

“ที่มา สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสแลพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๕๒”

“ค้นคว้าโดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล”

อนึ่ง จากการค้นคว้าเพิ่มเติม พบว่าพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนแล้วแต่ผ่านการศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารนี้ ก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเมื่อเจริญพระชนมายุมากขึ้น ในวัยประมาณ ๑๔ ถึง ๑๕ ชันษา นัยว่าโรงเรียนราชกุมาร เปรียบเสมือนโรงเรียนสำหรับเตรียมความพร้อมก่อนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศนั้นเอง
เหรียญโรงเรียนราชกุมาร มีลักษณะดังรูป จากการค้นคว้า ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา สันนิษฐานว่าเป็นเหรียญที่พระราชทานแก่นักเรียนในโอกาสที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ หรืออาจเป็นเหรียญรางวัลเรียนดีก็เป็นได้ (ยังไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันได้)

ข้อมูลจำเพาะ

ด้านหน้า: เป็นรูปโล่ห์ มีพระเกี้ยวประดับอยู่ด้านบน ล้อมรอบด้วยช่อชัยพฤกษ์มาลา ด้านล่าง มีแถบโบว์ พร้อมข้อความตรงกลางว่า “ราชกุมาร” ภายในโล่ห์มีตราพระเกี้ยวอยู่ด้านขวาบน ตราจักรีอยู่ด้านซ้ายบน และเป็นรูปหนังสืออยู่ด้านล่างของโล่ห์ เหรียญนี้ประดับพร้อมแพรแถบสีเขียว
ด้านหลัง: เรียบ ไม่มีลวดลายหรือข้อความใดๆ
ขนาด: สูง ๕๕ มิลลิเมตร กว้าง ๓.๖ มิลลิเมตร
ชนิด: เนื้อเงินกะไหล่ทอง (เท่าที่ค้นพบ)

Categories
เหรียญราชอิสริยาภรณ์ เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญรัชฎาภิเษกมาลา หรือเหรียญเปลือย ไม่มีหมวดหมู่

พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญรัชฎาภิเษกมาลา หรือเหรียญเปลือย

พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา หรือเหรียญเปลือย

The Silver Jubilee Medal
               
ใช้อักษรย่อ ร.ศ. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่พระราชทานเป็นที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญนี้สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เพื่อเป็นที่ระลึกในมหาพิธีมงคลพิเศษสมัยในการพระราชพิธีฉลองสินิราชสมบัติเจริญมาบรรจบครบ ๒๕ ปี วันที่ ๑ ตุลลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และได้พระราชทานในการพระราชพิธีฉัตรมงคลและฉลองพระไตรปิฎกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ อีกคราวหนึ่ง

เหรียญรัชฎาภิเศกมาลามีชนิดเดียว เป็นเหรียญเงิน ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและมีอักษรที่ริมขอบว่า “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรมราชาธิราช”

ด้านหลัง มีอักษรว่า “ที่รฦกการพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี วันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๒๖ ๑๑๒” อยู่ในวงช่อพุทธรักษาและช่อชัยพฤกษ์ มีห่วงร้อย ใช้ห้อยกับแพรแถบสีชมพู มีริ้วสีขาวทั้งสองข้าง กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร


สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานฝ่ายใน พระราชทานแต่ตัวเหรียญ ไม่มีห่วงห้อย และไม่มีแพรแถบ แต่ทรงพระราชทานเป็นที่ระลึก หรือจะนำมาทำเป็นเครื่องประดับหรือภาชนะ เช่นเข็มกลัด  กำไล ตลับ เป็นต้น สำหรับพระราชทานพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์พระราชทานเหรียญทองแดง
ผู้ออกแบบ : เสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย
ปัจจุบันเป็นเหรียญพ้นสมัยพระราชทาน

การพระราชทาน
๑. สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน โดยพระราชทานให้เป็นสิทธิไม่ต้องส่งคืน และพระราชทานเฉพาะในมหามงคลสมัยพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ และพระราชพิธี ฉัตรมงคลและฉลองพระไตรปิฎก ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๒
๒. ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญต้องไปลงชื่อในสมุดทะเบียนของกระทรวงมุรธาธร จึงจะประดับเหรียญนี้ได้ หากไม่ลงนามในสมุดทะเบียนฯ จะประดับเหรรียญนี้ไม่ได้ ถือว่าเป็นเหรียญปลอม มิใช่ของพระราชทาน
๓. เมื่อผู้ได้รับพระราชทานสิ้นชีวิตแล้ว ผู้ได้รับมรดกเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกสืบไป แต่ไม่มีสิทธิประดับ

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญจักรพรรดิมาลา หรือเหรียญปรนนิบัติราชการดี

พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญจักรพรรดิมาลา หรือเหรียญปรนนิบัติราชการดี

พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เหรียญจักรพรรดิมาลา หรือเหรียญปรนนิบัติราชการดี

ในวาระสมโภชศิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ในปีร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖) นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญจักรพรรดิมาลา ขึ้น แต่ยังมิได้มีการประกาศเป็นพระราชบัญญัติ และยังมิได้มีการพระราชทานแก่ผู้ใด
จนกระทั่งวันที่ ๓ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก๒๘ ๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘ นับวันขึ้นปีใหม่แบบเดิม) ในการพระราชพิธีสมโภชศิริราชสมบัติ เสมอเท่ารัชกาลที่ ๑ ครองราชย์ครบ ๑๐๐๑๕ วัน
และนับเป็นปีครองราชย์ ขึ้นปีที่ ๒๘ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติให้เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ปฏิบัติราชการดีทั่วไปไม่มีกำหนดขีดคั่นอย่างใด

เนื้อหาหลักตามความที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม๑๒ หน้า ๔๘๐ ถึง ๔๘๑ มีดังนี้…

…..มีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าเหรียญเครื่องประดับอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นแต่เมื่อการพระราชพิธีรัชฎาภิเศก สมโภชศิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ นั้น ยังหาได้มีประกาศพระราชบัญญัติ สำหรับกับเหรียญเครื่องประดับนั้นไม่ โดยยังไม่มีโอกาศที่จะพระราชทานผู้ใดในสมัยนั้นและในคราวนั้น ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระราชบัญญัติ เครื่องราชอิศริยาภรณ์ทั้งปวงแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย และเป็นที่รฦกของกาลสมัยอันนั้นอยู่แล้ว บัดนี้ถึงสมัย ซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาเสมอเท่ารัชกาล แห่งสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ อันเสด็จดำรงศิริราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครนี้ มีกาลยาวที่สุด ไม่มีรัชกาลอื่นจะยาวยิ่งกว่านั้น สมควรที่จะประกาศพระราชบัญญัติ สำหรับเหรียญเครื่องประดับนี้ ให้เป็นที่รฦกในมหามงคลสมัยอันนี้สืบไป

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสเหนือเกล้าฯ เฉพาะเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้เป็นแบบฉบับ สำหรับปกครองเหรียญเครื่องประดับอันนี้ โดยมาตราทั้งหลายดังจะว่าต่อไปนี้

มาตรา ๑ เหรียญเครื่องประดับนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าเหรียญจักรพรรดิมาลา


มาตรา ๒ เหรียญจักรพรรดิมาลา นี้มีสัณฐานเป็นรูปจักร ด้านหน้ามีพระบรมราชสาทิศฉายาลักษณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาพิไชยมงกุฎ ยอดมีรัศมีและพวงมาไลใบไชยพฤกษ์วงโดยรอบ ที่ขอบจักรมีอักษร แสดงพระบรมราชนามาภิไธยว่า “จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช สยามินทร์” ด้านหลังที่ขอบจักร มีอักษรแสดงคุณของผู้ที่จะได้รับพระราชทาน และแสดงศกที่ได้ทรงสร้างเหรียญนี้ว่า “สำหรับปรนนิบัติราชกาลดี รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒” ที่กลางเหรียญมีอักษรว่า “พระราชทานแก่” และจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ที่จะได้พวงมาไล อันมีช่อดอกไม้รับรองอยู่นั้น เหรียญนี้จะได้ห้อยแพรแถบสีเหลืองริมชมภู ห้อยกับเข็มอันมีอักษรจารึกว่า “ราชสุปรีย์” สำหรับติดที่รังดุมเสื้อ ณ อกข้างซ้าย


มาตรา ๓ เหรียญจักพรรดิมาลานี้ไม่มีกำหนดจำนวนชั้นสูงและต่ำ จะพระราชทานเสมอทั่วหน้ากัน ตามคุณพิเศษและความดีความชอบ ตัวเหรียญนั้นจะเป็นทองคำแท้ ฤๅเงินก้าใหล่ทอง เงินเปล่า ก็แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คงเป็นชั้นชนิดมีเกียรติยศอย่างเดียวกันทั้งนั้น


มาตรา ๔ เหรียญจักรพรรดิมาลานี้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ได้ปรนนิบัติราชกาลดี ตั้งแต่ผู้มีอิศริยศักดิ์ตลอดลงไปจนถึงไพร่เสมอทั่วหน้ากันตานแต่พระบรมราชอัธยาไศรย์ ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ใด


มาตรา ๕ เหรียญจักรพรรดิมาลานี้เมื่อพระราชทานแก่ผู้ใด จะได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้นั้นลงในที่สำหรับจารึกอันกล่าวแล้วนั้น ไม่ต้องมีประกาศนียบัตร แล้วจะได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ว่าได้พระราชทานแก่ผู้นั้น และจดบาญชีชื่อตัวชื่อตั้ง และวันเดือนศกและความดีความชอบ ที่ได้ปรนนิบัติราชกาลดีนั้น ไว้ในสมุดสารบบสำหรับเหรียญจักพรรดิมาลานี้ สำหรับแผ่นดินสืบไป


มาตรา ๖ เหรียญจักพรรดิมาลานี้พระราชทานให้เปนสิทธิ์ แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานนั้น เมื่อผู้นั้นล่วงลับไปแล้วก็ไม่ต้องส่งคืน คงพระราชทานให้เป็นที่รฦกแก่ผู้รับมรดกต่อไป


มาตรา ๗ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้รับพระราชทาน เหรียญจักพรรดิมาลานี้……

อนึ่ง ในพระราชบัญญัติเหรียญจักรพรรดิมาลา ร.ศ.๑๓๐ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๘ หน้า ๑๙๘ ถึงหน้า ๒๐๑ ) ได้มีการอ้างอิงความย้อนหลังไว้ในย่อหน้าแรก ว่า ตามพระราชประสงค์เดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้ปฏิบัติราชการดีทั่วไปไม่มีกำหนดขีดคั่น แต่ตามพระราชนิยมที่พระราชทานชั้นหลังนั้น สำหรับพระราชทานผู้ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร์ขุนนางครบ ๒๘ ปี เป็นบำเหน็จที่รับราชการยั่งยืนมั่นคงยาวนาน นัยว่าเนื่องจากได้เริ่มพระราชทานในปีที่ทรงครองราชย์ยาวนานเสมอพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (๒๘ ปี)

จากการค้นคว้าในราชกิจจานุเบกษา ที่เกี่ยวเนื่องกับการพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา ตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม รศ๑๑๔ ซึ่งเป็นวันที่เริ่มพระราชทานครั้งแรก จนถึง ๒๐ กันยายน รศ๑๒๙ ซึ่งเป็นการพระราชทานครั้งสุดท้ายก่อนสววรคตได้ไม่นาน  พบหลักฐานการพระราชทาน รวบรวมเป็นสถิติได้ดังนี้ (รายชื่อและจำนวนผู้รับพระราชทานอาจมีตกหล่นได้บ้างเล็กน้อย แต่อยู่ในราว สองร้อยคนเศษ อย่างแน่นอน)

ประเภทจำนวนผู้รับจำนวนครั้งที่พระราชทาน
เงินแช่ทอง332
ก้าไหล่ทอง2010
ทอง62
เงิน7711
ไม่ระบุ8624
รวม22249

อนึ่ง เหรียญจักรพรรดิมาลาสมัยรัชกาลที่๕นี้ ถึงแม้ว่าจำนวนการพระราชทานจะไม่มากนัก (เนื่องจากผู้ที่ได้รับพระราชทานต้องรับราชการด้วยความชอบ เป็นระยะเวลายาวนานถึง๒๘ปี) แต่ช่วงเวลาของการพระราชทาน นับแต่มีการตราพระราชบัญญัติฯ ตั้งแต่ปีร.ศ.๑๑๔ ถึง กันยายน ร.ศ.๑๒๙ ก็ถือว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร และน่าจะมีการสั่งผลิตเหรียญนี้มาหลายครั้งหลายlots จากการตรวจสอบเหรียญแท้ที่พบในปัจจุบัน โดยสอบทานตามหลักฐานชื่อผู้รับพระราชทานที่มีปรากฎอยู่ (เหรียญที่พระราชทานแล้ว จะมีชื่อผู้รับพระราชทาน จารด้วยลายมืออยู่ด้านหลังเหรียญ) พอสันนิษฐานได้ว่า เหรียญเงินแช่ทอง, และเหรียญก้าไหล่ทอง (และอาจรวมถึงเหรียญ “ทอง” ด้วย) น่าจะเป็นชนิดที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นเนื้อกะไหล่ทอง

   อย่างไรก็แล้วแต่ จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ โดยนำตัวอย่างเหรียญจักรพรรดิมาลาเหรียญหนึ่ง
ที่มีบันทึกหลักฐานการพระราชทานในราชกิจจานุเบกษาว่าเป็นชนิดเหรียญ”ทอง” จากการวิเคราะห์เนื้อโลหะของเหรียญดังกล่าว โดยเทคนิค XRF (X-Ray Fluorescence ในระดับผิวที่มีความลึกไม่เกิน 100 ไมครอน)
พบว่าเป็นชนิดที่มีเนื้อโลหะหลักเป็นเงิน (Ag) กว่า 88% ผสมกับแร่ทองคำ (Au) มากกว่า 10% โดยมวล และมีข้อสังเกตุว่า ตามบันทึกหลักฐานการพระราชทาน ที่ค้นคว้าได้จากราชกิจจานุเบกษา ก็ยังไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าได้มีการพระราชทานเนื้อ “ทองคำแท้” แก่ผู้ใด

   เหรียญจักรพรรดิมาลา สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เป็นเหรียญแท้นี้ พบเห็น ๒ บล็อค คือบล็อคดอกไม้เต็ม (คือดอกไม้ประดับในวงขอบเหรียญเห็นเป็นกลีบอย่างชัดเจน) และดอกไม้ตื้น และทั้ง๒ บล็อคนี้ มีลักษณะการทำผิวเหรียญแบบพ่นทราย (Sand Blast Finishing) และมีร่องรอยการกัดเฟืองที่วงขอบด้านใน (อันเกิดจากขั้นตอนการทำแม่พิมพ์) ที่เป็นลักษณะเฉพาะเหมือนกัน

คำบรรยายภาพ: ตัวอย่าง บันทึกการพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา ที่พิมพ์ไว้ในราชกิจจานุเบกษา

ข้อมูลจำเพาะ:

ด้านหน้า: มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ยอดมีรัศมีและพวงมาลัยใบชัยพฤกษ์วงรอบ ที่ขอบจักรมีอักษรว่า “จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช สยามินทร์”

ด้านหลัง:
ที่ขอบจักรมีอักษรแสดงคุณของผู้ที่ได้รับพระราชทาน และแสดงศกที่ทรงสร้างเหรียญนี้ว่า “สำหรับปรนนิบัติราชการดี รัตนโกสินทรศก ๑๑๒” ที่กลางเหรียญมีอักษรว่า “พระราชทานแค” (และจะได้โปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ที่ได้รับพระราชทานลงในกลางเหรียญที่ให้พวงมาลัยที่มีช่อดอกไม้รองอยู่)

ขนาด:
เหรียญมีลักษณะเป็นรูปจักรขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๓ เซนติเมตร ส่วนสูง ๖.๐ เซนติเมตร

การประดับ:
ห้อยกับแพรแถบสีเหลือง ริมชมพู ห้อยกับเข็มมีอักษรว่า “ราชสุปรีย์” สำหรับประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ไม่มีประกาศนียบัตร เพราะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ไว้ที่กลางเหรียญ และลงบันทึกรายนามผู้รับพระราชทานไว้ในราชกิจจานุเบกษา ทุกครั้ง

ผู้ออกแบบ: เสวกเอก หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ในกรมขุนราชสีหวิกรม (ช่วง พ.ศ. ๒๔๓๖)

ค้นคว้าโดย: พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

The Prabas Mala Medal
ใช้อักษรย่อ ร.ป.ม. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์พระราชทานเป็นที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เพื่อเจริญพระราชไมตรี ตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆในยุโรป      

                          
เหรียญนี้มี ๓ ชนิด คือ เหรียญเงินกะไหล่ทอง เหรียญเงิน และเหรียญบรอนซ์กะไหล่เงิน เป็นเหรียญรูปกลม


ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่กลาง ที่เบื้องขวาของพระบรมรูปมีอักษรโรมันว่า AUG PATEY และมีอักษรที่ริมขอบเบื้องบนว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”


ผู้ออกแบบ : AUGUSTE PATEY
ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

ด้านหลัง มีอักษรว่า “ที่รฦกในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ตั้งแต่วันที่ ๗ เดือนเมษายน ถึงวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๓๐ ๑๑๖” มีห่วงใช้ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองริมสีน้ำเงินกับแดง กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร ริมขอบนอกของเหรียญด้านล่างมีข้อความอักษรโรมันบอกชนิดของโลหะ
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานฝ่ายใน แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

คำบรรยายภาพ : เหรียญประพาสมาลาชนิดเนื้อเงินกะไหล่ทอง

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อบรอนซ์กะไหล่เงิน

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อ เงิน

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อกะไหล่ทอง
Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีระกา ร.ศ.๑๑๖ ( พศ ๒๔๔๐ ) ก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก สำหรับพระราชทานแก่ผู้มีความชอบในพระองค์ รองจากเหรียญรัตนาภรณ์ ทรงพระราชทานแก่ข้าราชการในพระราชสำนัก นายทหารรักษาพระองค์ และผู้มีความชอบในพระราชสำนัก ทั้งสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการในพระราชสำนักแห่งพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศชั้นมหาดเล็กรับใช้เป็นต้น เหรียญมีลักษณะเป็นเหรียญเงิน และเหรียญกะไหล่ทอง เป็นเหรียญรูปกลมแบน ใช้อักษรย่อว่า “ ร . จ . ท ( ๕ )” ทางด้านหลัง มีอักษรที่กลางวงจักรว่า “ ราชรุจิยา ทิน์นมิท ๐ ” ซึ่งแปลว่า “ เหรียญนี้ ทรงพอพระราชหฤทัย พระราชทาน ” และประดับกับแพรแถบสีแดง สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ( บุรุษ ) ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานฝ่ายใน ( สตรี ) เป็นแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) เหรียญทวีธาภิเศก

พ.ศ.๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) เหรียญทวีธาภิเศก

พ.ศ. ๒๔๔๖ เหรียญทวีธาภิเศก

เหรียญทวีธาภิเศก เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ ใช้อักษรย่อว่า ท.ศ. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างเหรียญนี้ขึ้น เมื่อพศ ๒๔๔๖ เพื่อพระราชทานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาสที่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติสืบบรมสันตติวงศ์ เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาล นับได้ ๑๒๒๔๔ วัน ณ วันที่ ๓ ตุลาคม รศ ๑๒๒ ซึ่งเป็นเวลายืนนานกว่ารัชกาลของบูรพกษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี และครบถ้วน ๒เท่า จำนวนวันในรัชกาลของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหรียญที่เห็นในรูปเป็นชนิดเนื้อเงินกะไหล่ทอง เมื่อแรกพระราชทานจะมาพร้อมกับแพรแถบ เป็นเหรียญรูปไข่คู่ ติดกัน

มีตราตอกด้านข้าง ซึ่งคาดว่าน่าจะผลิตจากโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ เป็นเหรียญรูปไข่คู่ติดกัน มีห่วงเชื่อมสำหรับร้อยแพรแถบ
ด้านหน้า มีรูปโล่ โล่ข้างหน้าเป็นตราจุลมงกุฎรองพาน ๒ชั้น โล่หลังรูปมหามงกุฎรองพานอย่างเดียวกัน มีพระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ และมีใบชัยพฤกษ์รอบนอก มีพระขรรค์กับธารพระกรไขว้กันอยู่เบื้องหลัง มีพระอุณหิศ ( กรอบหน้า , มงกุฎ ) อยู่เบื้องบนทั้งสองหน้า รูปกลมรี
ด้านหลัง กลางโล่มีรูปช้างสามเศียร มีช่อพุทธรักษาล้อมสองข้าง มีพระอุณหิศอยู่เบื้องบน ภายในพระอุณหิศมีอุณาโลมอยู่ เหนือโล่มีอักษรโดยรอบว่า “ ที่ระลึกรัชกาลที่ ๕ เสมอ ๒ เท่า รัชกาลที่ ๔ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ” เหมือนกันทั้งสองหน้า
ชนิด ทองคำ เงินกะไหล่ทอง และ เงิน
ปัจจุบัน พ้นสมัยพระราชทาน