โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล
หนึ่งในเหรียญที่ระลึกที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ และหาชมได้ยากมาก คือเหรียญที่ระลึกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มิลลิเมตร ซึ่งทาง โรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส (Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน) ได้จัดทำเป็นพิเศษเพื่อทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ในจำนวนเพียงเล็กน้อย เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีสเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๐ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑ เหรียญนี้ ด้านหนึ่งจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า “SA MAJESTE LE ROI DE SIAM A VISITE LA MONNAIE DE PARIS LE 16 SEPTEMBRE 1897” ซึ่งมีความหมายว่า กษัตริย์แห่งประเทศสยาม เสด็จเยือนโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส วันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1897 (พ.ศ.๒๔๔๐) ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระราชวังซึ่งใช้เป็นอาคารของโรงกษาปณ์นั่นเอง และมีคำจารึกภาษาลาตินที่วงขอบด้านบนว่า AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO ซึ่งหมายความถึงช่างทำเหรียญกษาปณ์ ซึ่งในยุคโรมัน ช่างทำเหรียญกษาปณ์ถูกขนานนามว่า “tresviri aere argento auro flando feriundo” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “three men for striking (and) casting bronze, silver (and) copper (coins)” ซึ่งก็หมายถึงช่างทำเหรียญนั่นเอง ส่วนด้านล่าง จารึกคำว่า AEDES AEDIFICATAE. M.DCC.LXX. และมีชื่อปฏิมากรผู้สร้างเหรียญอยู่ด้านล่างซ้ายมือ L. LEONARD F.
คำบรรยายภาพ: La Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน
จากการค้นคว้าใน จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖ โดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) พบข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ กันยายนร.ศ.๑๑๖ ที่เกี่ยวข้อง บันทึกไว้ดังนี้ …ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง มองซิเออร์ฮาโนโตเสนาบดีว่าการต่างประเทศมารับเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกทรงเครื่องอย่างเมื่อเช้า เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์ เรียกว่ามิวเซียมมงเน (Musee de la Monnaie) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์และเจ้าพนักงานผู้ใหญ่รับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นี้ มีสิ่งของหัวเมืองอินเดีย สยาม เขมร ลาว จีน ญี่ปุ่น ฝ่ายตะวันออกเป็นต้นว่า พระพุทธรูป และรูปที่นับถือของชนชาวตะวันออกต่างๆ ในห้องหนึ่งมีสิ่งของลาวทางเมืองหลวงพระบางเป็นพื้น เมื่อได้ทอดพระเนตรสิ่งของในมิวเซียมมงเนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงกระษาปณ์ซึ่งเสนาบดีกระทรวงคลังคอยรับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ได้ทอดพระเนตรที่ไว้ทองลิ่มเงินลิ่ม เครื่องจักรหล่อเบ้าหลอมทำเงิน …แล้วเสนาบดีกระทรวงคลังเชิญเสด็จพระราชดำเนินชั้นบนทอดพระเนตร ตัวอย่างเงินตัวอย่างทอง ซึ่งทำใช้ในประเทศต่างๆ และตัวอย่างเงินซึ่งโรงกระษาปณ์นี้ได้ทำเป็นอันมาก …แล้วประทับมีพระราชดำรัสด้วยเสนาบดีกระทรวงคลังอยู่ประมาณ ๑๕ นาที จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบ้านที่ประทับ…
นอกจากนี้ จากการสอบทานเอกสารอ้างอิงของโรงกษาปณ์แห่งปารีส “Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979]) ซึ่งหมายถึงบันทึกการมาเยือนโรงกษาปณ์อย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนตัว (ของประมุขแห่งรัฐ และบุคคลสำคัญ) ในระหว่างปี ค.ศ.1717 ถึง 1979 พบข้อมูลที่สำคัญดังนี้“MC-1, 34 / 1897. Visite de Chulalongkorn, roi du Siam (16 septembre).
Medailles d’or, d’argent et de bronze << Ambassade du Siam >> en 41 mm (re’gne de Louis XIV) et en 72 mm.”ข้อความนี้ มีความหมายชัดเจนว่า กษัตริย์จุฬาลงกรณ์แห่งสยาม ได้มาเยือน (วันที่ 16 กันยายน) และที่น่าสนใจคือในบรรทัดถัดมาได้ระบุถึงเหรียญราชทูตสยาม (โกษาปาน) ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ชนิดทองคำ เงิน และบรอนซ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มม. และขนาด 72 มม ซึ่งน่าจะได้มีการทูลเกล้าถวายแด่พระองค์ท่านเป็นที่ระลึกในการเยือนครั้งนั้นด้วย
อนึ่ง เหรียญที่ระลึกเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งปารีสเหรียญนี้ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระองค์ และการเสด็จเยือนโรงกษาปณ์ครั้งนี้ พระองค์ฯ ยังได้พบกับปฏิมากรเอก Henri Aguste Jules Patey ผู้ซึ่งในครานั้นได้ปั้นพระรูปแบบศิลปะนูนต่ำ โดยที่พระองค์ท่านได้ทรงนั่งเป็นแบบให้เองโดยตรง และได้จัดสร้างเป็นเหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑ อันเป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง ในกาลต่อมา นายช่าง Patey ผู้นี้ก็ยังเป็นผู้ออกแบบจัดสร้างเหรียญรัชกาลที่๕ อีกหลายเหรียญ อาทิเช่น เหรียญเสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ.๑๒๖, เหรียญรัชมังคลาภิเศก, และเหรียญบาท ช้างสามเศียร เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่านิยมในการทำเหรียญที่ระลึก เสด็จฯเยี่ยมโรงกษาปณ์นี้ คงจะได้แพร่ไปยังแผ่นดินสยาม ในช่วงเวลานั้นด้วย เพราะในวันที่ ๘ ธันวาคม ปีเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงกษาปณ์สิทธิการ และในการนี้โรงกษาปณ์สิทธิการได้แสดงการทำเหรียญถวายทอดพระเนตร โดยทำเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจำนวนไม่มากนัก และได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญนั้นแด่พระองค์ และผู้ตามเสด็จ เหรียญนี้เป็นเหรียญกษาปณ์ตราพระรูป และด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน และเพิ่มคำว่า โรงกระสาป ๑๑๖ ไว้รอบพระบรมรูป และเหรียญดังกล่าวนี้เรียกกันในหมู่นักสะสมว่า เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป ร.ศ.๑๑๖ ซึ่งก็จัดเป็นเหรียญที่หายากและมีมูลค่าสูงยิ่ง ราคาปัจจุบันถึงหกหลักปลายๆ
คำบรรยายภาพ: เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป (สิทธิการ) ร.ศ.๑๑๖
ลักษณะจำเพาะ
ด้านหน้า : มีคำจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า
SA MAJESTE
LE ROI DE SIAM
A VISITE
LA MONNAIE DE PARIS
LE 16 SEPTEMBER
1897
ด้านหลัง : เป็นรูปอาคารที่ทำการโรงกษาปร์แห่งปารีส ซึ่งปัจจุบันคือ French Mint และมีรูปเรือล่องอยู่ในคลองด้านหน้าอาคาร มีคำจารึกว่า
AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO
AEDES AEDIFICATAE.
M.DCC.LXX.
ปฏิมากร : L. LEONARD F. มีชื่อจารึกอยู่ด้านซ้ายใต้รูปลำคลอง
ขนาด : 41 มิลลิเมตร มี Mint Mark รูป Cornucopia และคำว่า Bronze ตอกประทับบนขอบเหรียญ ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
ชนิด: เนื้อบรอนซ์ ทำผิวแบบ Gilded Finishing (คือตกแต่งให้ผิวดูเป็นประกายคล้ายมีทองฉาบอยู่บางๆ)
ข้อมูลอ้างอิง
1) จดหมายเหตุ เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖, เรียบเรียงโดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ)
2) Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979])