พ.ศ.๒๔๐๘ เครื่องราชฯ ดารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ณ ฟองแตนโบล

พ.ศ.๒๔๐๘ เครื่องราชฯ คารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ณ ฟองแตนโบล

เรืออากาศเอก นิรันดร วิศิษฎ์สิน


คำนำ


ในพิพิธภัณฑสถาน พระราชวัง ฟองแตนโบล มี เครื่องราชบรรณการ ที่รัชกาลที่ ๔ส่งไปเจริญพระราชไมตรี แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิที่นโปเลียน ที่ ๓ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๔ถึง ๒๔๐๘ จัดแสดงอยู่ ในกลุ่มนี้ มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่น่าสนใจมาก เป็นองค์เดียวในโลกอยู่สองสิ่ง องค์หนึ่ง เป็นดวงดารา ตรงกลางเหมือนดารานพรัตน์ สมัยรัชกาลที่ ๔ ต่างกันที่ ช่องระหว่างแฉกทั้งแปดจำหลักเป็นกลีบซ้อนขึ้นมาเป็นรูปดวงดอกไม้ ฝังเพชรจำนวนมากทำให้มีขนาดเขื่องกว่า อีกองค์หนึ่งเป็นดวงตราห้อยสายสะพาย ด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ครึ่งพระองค์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปช้างทรงเครื่อง ไม่ปรากฏมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่เหมือนกันนี้อยู่ในกรุงสยามเลย นับได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากดังกล่าวแล้วข้างต้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทั้งสององค์นี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยในสมัยต่อมา อีกประการหนึ่งในระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา มีเพียงชาวไทยไม่กี่ท่านที่ได้เคยเห็นด้วยอยู่ห่างไกลบ้านเมืองอันเป็นถิ่นกำเนิด ถึงแม้จะได้ไปฝรั่งเศส ก็อยู่เพียงกรุงปารีสหาได้ไปถึงฟองแตนโบลไม่อย่างไรก็ตาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงในตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม และได้ทรงฉายภาพไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ภาพนั้นยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนเลย และ ปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากที่จะได้บันทึกภาพที่สำคัญนี้มานำเสนอได้

 ดารานพรัตน์ ณ ฟองแตงโบล กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓ ( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4  ณ ฟองแตงโบล (ด้านหน้า)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓
( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4  ณ ฟองแตงโบล (ด้านหลัง)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓
( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ด้วยติดขัดทางด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด ต้องใช้ความพยายามทั้งเวลาและหาช่องทางอยู่เป็นเวลานานทั้งต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาอยู่หลายครั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะได้มา ถึงอย่างไรก็ตาม ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้นำภาพถ่ายสำคัญนี้พร้อมด้วยเรื่องราวประวัติความเป็นมา เพื่อนำเสนอเป็นบรรณาการแด่ท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ถึง ๒๔๐๘ สถานการณ์ในสยามประเทศอยู่ในสภาวะล่อแหลม ด้วย มหาอำนาจใน ยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพล เข้าครอบครอง อินเดีย พม่า มลายู อันนัมเวียตนาม อีก ทั้งจีนซึ่งเป็นมหาประเทศ ที่มีอิทธิพลสูงมาแต่โบราณ ยังต้องยอมสยบ มหาอำนาจยุโรป นี้ แต่โดยดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินวิเทโศบาย อย่างชาญฉลาด โดยส่ง พระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) และ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( แพ บุนนาค)

ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ไปเจริญพระราชไมตรี กับ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งจักรวรรดิบริตตาเนีย อังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ และสมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ แห่งกรุงฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตามลำดับ เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรี สร้างเสริมความเข้าใจอันดี กับ ผู้นำและพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ

พร้อมทั้งแสดงความเต็มใจของชาวสยามที่จะติดต่อค้าขาย และ ผูกมิตรกับชนชาติเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ทางธรรมทรงผูกใจชาวยุโรปโดยทรงให้คำมั่นกับ สมเด็จพระสันตะปาปา ปิอุสที่ ๙ พระประมุขแห่งสกลคริสตจักร ณ นครรัฐวาติกัน ด้วยว่าชาวคริสเตียน ผู้นับถือศาสนาคาธอลิค จะได้รับความคุ้มครองเยี่ยงเดียวกับชาวพุทธในกรุงสยาม

ทั้งยังให้เสรีภาพ ทางศาสนากับชาวต่างชาติด้วย นับเป็นการดำเนินวิเทโศบายอย่างชาญฉลาดเข้าถึงจิตใจชาวตะวันตกโดยใช้มิตรภาพ และน้ำใจอันใสสะอาดของชนชาวไทย มาช่วยให้ประเทศชาติพ้นภัย รอดจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก รักษาเสรีภาพไว้ได้ เป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคนี้

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และ คณะฑูต ถวายพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการ แด่ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟองแตนโบล

ในคราวที่ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ) จางวางพระคลังสินค้า รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรี แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟองแตนโบล วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔ นั้น

นอกจากประสบความสำเร็จเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ ยังได้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลิจอง ดอนเนอร์ ( LEGION D’HONNEUR ) ชั้น กรองครัว ( GRAND CROIX เป็นภาษาอังกฤษ “แกรนด์ครอส” GRAND CROSS) อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศสูงสุดของฝรั่งเศส ทรงยินดีมาถวาย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๐๖ ( ลางฉบับว่า ๖ พฤษภาคม ๒๔๐๖ ในที่นี้ใช้วันที่ ตามที่ปรากฏใน พระราชสาส์นฉบับที่ ๑๘ )

นับเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอย่างสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เพียงพระองค์เดียว ของเอเชียในขณะนั้นที่ได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศสูงสุดตระกูลนี้ โปรดฯให้ยิงสลุต ๒๑ นัด เชิญมาบนพานทองสองชั้น จัดขบวนแห่แหน อย่างสมพระเกียรติยศ ทรงประดับ ดวงตราสายสพาย และ ดาราเป็นเกียรติ แก่คณะราชทูตฝรั่งเศส พร้อมเลี้ยงฉลอง มีประโคม ดนตรี มโหรี เป็นเกียรติ อีกด้วย

อนึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลิจอง ดอนเนอร์ นี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปหลายครั้ง มาตลอดจนถึงรุ่นปัจจุบัน พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ จำลองที่สร้างขึ้นภายหลังจึงมีรูปตราลิจอง ดอนเนอร์อันคลาดเคลื่อนอยู่ รุ่นที่ทรงได้รับมานี้ เป็นรุ่นที่อยู่ในยุค จักรวรรดิที่สอง (SECOND EMPIRE) มีลักษณะดังนี้

.

ดวงตรา ลิจอง, ตอนเนอร์ รุ่นที่ทรงยินดีมายังรัชกาลที่ ๔

ดวงตราด้านหน้า ทำด้วยทองคำ ตรงกลางเป็นพระรูปจักรพรรดินโปเลียน หันพระพักตร์ ทางด้านขวา ล้อมด้วยวงกลม ลงยาสีขาบ คือ สีน้ำเงินเข้มมีตัวอักษรลาตินสีทอง NAPOLEON EMP DES FRANCAIS คือ นโปเลียน จักรพรรดิ แห่ง ฝรั่งเศส มีดาว ๕ แฉก เรียงกันด้านล่าง ๓ ดวง ล้อมรอบวงด้วยรัศมีลงยาสีขาว รูปห้าเหลี่ยม มุมบนย่อลง ๕ แฉก ปลายแฉกมีปุ่มกลม แฉกละ ๒ ปุ่ม

ระหว่างแฉกทั้ง ๕ มีใบไม้ทองลงยาสีเขียว ด้านบน มีหู ๒ แฉกลงยาสีแดง เชื่อมกับ มงกุฏ ที่ฐานลงยาสีเขียวน้ำเงินแดง สลับกัน ที่กลีบมงกุฎ ๕ กลีบ ทำเป็นรูปใบไม้มีนกอินทรีกางปีกยืนเกาะมัดหวายกับสายฟ้า รอยฉลุระหว่างกลีบมงกุฎลงยาสีแดง บนยอดมงกุฎมีปุ่มกลม บนปุ่มมีกากบาท ( ชั้นกรองครัวซ์ ไม่มีกากบาท ) ตัวปุ่มมีรูแขวนห่วงกลมสำหรับห้อย สายสพายสีแดง สพายบ่าขวาเฉียงลงเอวซ้าย


ดวงตราด้านหลัง ตรงกลาง เป็นรูปนกอินทรีกางปีกยืนบนมัดหวาย และ สายฟ้า ล้อมรอบ ด้วย วงกลมยาสีขาบ มีตัวอักษรลาตินสีทอง HONNEUR ET PATRIE คือ เกียรติยศ แด่ผู้รักชาติ มีดาว ๕ แฉก เรียงกันด้านล่าง ๓ ดวง มีแฉกล้อมรอบ และ มงกุฎ เหมือนกันกับด้านหน้า


ดารา ทำด้วยเงิน (ดาราของจักรพรรดินโปเลียน ที่๓ ทำด้วยทองคำ) ตรงกลางเป็นรูป นกอินทรี กางปีก จับมัดหวาย และ สายฟ้า มีวงกลมล้อมรอบ มีตัวอักษรลาติน HONNEUR ET PATRIE . ด้านล่างเป็นช่อดอกไม้ ล้อมรอบด้วย แฉกรูป ๕ เหลี่ยมมุมบนย่อลง ปลายแฉกเป็นปุ่มกลมแฉกละ ๒ ปุ่ม ทำเป็นเพชรสร่งทั้ง ๕ แฉก ระหว่างแฉกรัศมีปลายมน แฉกละ ๕ เส้น ด้านหลังมีเข็มกลัดสำหรับติดหน้าอกเสื้อด้านซ้าย

เพื่อเป็นการตอบแทน จึงโปรด ฯ ให้ช่างทองหลวง ทำดารา และดวงตราขึ้น ดังปรากฏในพระราชสาส์นที่ส่งไปถวาย จักรพรรดินโปเลียน ที่ ๓ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๐๗ ความตอนหนึ่งว่า

“ บัดนี้กรุงสยามมีความประสงค์จะใคร่ทำความที่กรุงสยามคิดถึง พระเดชพระคุณ กรุงฝรั่งเศสนั้นให้แจ้งชัด จึงได้คิดให้ช่างทองชาวสยามทำรูปดวงดาวฤาดอกไม้ ด้วยทองคำประดับเพชรเป็นใจกลาง
มีพลอยสีต่างกำเนิดอยู่ทั้งแปดด้าน แล้วมีเพชรเป็นอันมากประดับเป็นบริวารแวดล้อมดังรัศมี อีกกับ ดวงดาวทองคำลงยาราชาวดี มีห่วงห้อย เป็นรูปสำคัญนามของกรุสยาม ฯ ”


ดาราและดวงตรานี้ยังเก็บรักษา และ จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานพระราชวังฟองแตนโบล อยู่ถึงปัจจุบันนี้

ในคราวที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ พิพิธภัณฑ์ พระราชวังฟองแตนโบล เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็น ได้ทรงพบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ทำขึ้นพิเศษไม่เหมือนที่มีอยู่ ดวงหนึ่ง เป็นดารานพรัตน์ สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่มีขนาดเขื่องกว่า อีกดวงหนึ่ง เป็นดวงตราแขวนสายสพาย

ด้านหนึ่ง จำหลักเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ครั้งนั้นทรงได้ถ่ายภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญนี้มาด้วย ปัจจุบันรักษาอยู่ที่หอจดหมายแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ภาพนี้ยังไม่ได้ลงพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดมาก่อน ภาพถ่ายนี้ได้นำเสนอไว้แล้วในตอนต้น มีลักษณะดังนี้

ดารานพรัตน์ รัชกาลที่ ๔

ดารานพรัตน์ ณ ฟองแตนโบล

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 และดารานพรัตน์  ณ ฟองแตงโบล

ดวงตรา ด้านหน้า พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ครึ่งพระองค์ ทรงหมวกสก๊อต หันพระพักตร์ด้านซ้าย ล้อมรอบด้วยช่อดอกไม้ อยู่ในวงกลม ล้อมรอบด้วย รัศมีรูป ๕ เหลี่ยมมุมบนย่อลง๕ แฉก มีลายกนกลงยาสีน้ำเงินและเขียว แฉกละ๒ ด้าน พื้นลงยาสีแดง ระหว่างแฉกเป็นรูปใบไม้ลงยาสีแดงสลับเขียวทั้ง๕ แฉก ด้านบนเป็นใบไม้ลงยาสีเขียวเชื่อมกับพระมหามงกุฎ มีหูเป็นรูปศรีวัตสะ เหนือพระมหามงกุฎ มีห่วงด้านบนสุด สำหรับห้อยสายสพาย ด้านหลัง เหมือนด้านหน้าแต่ตรงกลางเป็นรูปช้างทรงเครื่อง

ดาราและดวงตรานี้ ทำขึ้นเพียงชุดเดียว ไม่มีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายประกอบ หรือ มีธรรมเนียมมาแต่โบราณ เป็นของที่ทรงมีพระราชดำริให้ทำขึ้นมาใหม่ นับได้ว่าเป็นครั้งเดียวที่ปรากฏ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ บนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เป็นของสำคัญที่หาดูได้ยากยิ่ง ครั้นต่อมาทรงสร้าง ดาราช้างเผือกขึ้น มีรูปช้างเผือก มงกุฎ และ เครื่องสูงลงยาราชาวดีฝังเพชรพลอย ส่งไปถวาย จักรพรรดินโปเลียน ที่ ๓ เป็นสำรับเข้ากับดวงตราพระบรมรูป กับ ช้างทรงเครื่องที่ส่งไปแล้วนั้น ตามความในพระราชสาส์น ฉบับที่ ๑๙ ที่ส่งไป เมื่อ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๐๘

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ นับได้ว่าเป็นชุดแรก ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นกำเนิดของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยในสมัยต่อมา โดย ดารานพรัตน์ เป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และ ดวงตราพระบรมรูป กับช้างทรงเครื่อง เป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก

ภาพดารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปกับช้างทรงเครื่องนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อ จาก AGENCE PHOTOGRAPHIQUE REUNION DES MUSEES NATIONAUX กรุงปารีส โดย MADAM HERVELENE POUSSE จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ อนึ่งภาพประกอบนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

บรรณานุกรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , พระราชหัตถเลขาด้านการต่างประเทศ , อนุสรณ์
หม่อมเจ้า วงศานุวัตร เทวกุล , กรุงเทพ ฯ , ๒๕ เมษายน ๒๕๓๔ .
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , เสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ , คุรุสภา , ๒๕๐๔
“——————-” ,ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สยาม , กรุงเทพ ฯ , ๒๔๖๘
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมติอมรพันธุ์ , เรื่องตั้งเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์ ,
พิมพ์ครั้งที่สาม , กรุงเทพ ฯ , ๒๕๑๒
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย , กรุงเทพ ฯ , ๑๒ สิงหาคม๒๕๓๕
CHATEAU DE FONTAINEBLEAU , LE MUSEE CHINOIS DE L’IMPERATRICE
EUGENE , PARIS , 1994 .

แชร์

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
อีเมล์

หมวดหมู่

ได้รับความนิยม

ติดตามอัพเดทล่าสุด

สมัครรับจดหมายข่าวของเรา

ไม่มีสแปมการแจ้งเตือนเกี่ยวกับบทความใหม่ และ การอัปเดต.
ตามหมวดหมู่

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ EP1 | เหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ.๑๒๕ https://www.youtube.com/watch?v=gKf1rqiTXCg&list=PLseyPJqYT8qCaYHhzhvdMe-mu_7uJEj6R จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกไว้ว่างานวัดเบญเป็นงานที่สนุกมากและเป็นที่เลื่องลือของชาวพระนครในเวลานั้นและในปี พ.ศ.2449 ได้มีการประชันศาสตราวุธต่างๆเช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน กริช ปืน และขอช้าง เป็นต้น….”.เราจึงได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและที่มาของเหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ. ๑๒๕มา #เล่าเรื่องผ่านเหรียญ ให้ทุกคนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเพราะ #เหรียญที่ระลึกเปรียบเสมือนหลักกิโลทางประวัติศาสตร์

พ.ศ.๒๕๖๒ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า   โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๕๖๒ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลจำเพาะ ชนิดโลหะ เงิน ความบริสุทธิ์ 92.5% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 23 กรัม (ผลิตไม่เกิน 300,000 เหรียญ)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕) เหรียญ ส พ ป ม จ ๕ เป็นเหรียญรางวัลซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่แต่งซุ้มไฟประกวดในวัง เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีพศ 2413 ซึ่งทรงมีพระชนมายุ 17 พรรษา เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ ตามประวัติกล่าวไว้ว่าทรงพระราชทานเป็นเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง จำนวนที่โปรดเกล้าให้สร้าง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด