พ.ศ. ๒๔๐๔ เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี

พ.ศ. ๒๔๐๔ เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี

เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ผลิตขึ้นโดยโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นที่ระลึก ในคราวที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังภาษีสินค้าเป็นราชฑูตอัญเชิญพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสยามไปถวาย สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๔
ลักษณะเหรียญ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗.๓ ซม.
ชนิด ทอง เงิน ทองแดง
ด้านหน้า พระบรมรูปสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญทรงมงกุฎที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล ( Laurel Wreath ) เป็นต้นไม้ขนาดเล็กมีใบสีเขียวเข้มมีกลิ่นหอม ตำนานกรีกโบราณกล่าวว่าเทพอพอลโล ( APOLLO ) มีเรื่อง บาดหมางกับ EROS เทพแห่งความรัก ( รูปปั้นบรอนซ์ของเทพองค์นี้ตั้งอยู่ที่จตุรัสPICCADILLY CIRCUS กรุงLONDON ) EROS จึงแกล้งยิงเทพ APOLLO ด้วยศรทองทำให้ทรงปฏิพัทธ์หญิงสามัญชื่อ DAPHNE และยิง DAPHNE ด้วยศรเหล็ก ที่ทำให้เกิดความชังเทพ APOLLO แล้ว DAPHNE ก็หนีเทพ APOLLO ไปพึ่งเทวี GAIA ที่ทรงประทานพรให้ DAPHNE แปลงร่างเป็นต้นลอเร็ล ด้วยความอาลัยรัก เทพ APOLLO จึงนำใบของต้นลอเร็ลนี้มาทอเป็นพวงแล้วประดับบนพระเศียร สิ่งนี้ทำให้ชาวกรีกโบราณใช้ใบของต้นลอเร็ลมาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยมอบให้นักรบที่ชนะศึกสงครามเป็นเกียรติ และยังใช้ประดับพระเศียรของพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระมหามงกุฎอีกด้วย


เหรียญกระษาปณ์ทองคำ ชนิดสเตเตอร์ ของกรีกมาซีโดเนียสมัยพระเจ้าฟิลลิปส์ที่๒ พระราชบิดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ด้านหน้า เป็นรูปเทพอพอลโลสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล
เหรียญนี้มีตัวอักษรภาษาฝรั่งเศสล้อมรอบ ด้านซ้าย และ ขวา ดังนี้
NAPOLEON III EMPEREUR พระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓
ด้านล่าง ALPHEE DUBOIS นามช่างผู้ที่ทำแม่พิมพ์เหรียญ
ด้านหลัง ภาพ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พร้อมด้วยพระจักรพรรดินี ประทับบนพระที่นั่ง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟงแตนโบล รับคณะราชฑูตกรุงสยาม โดยพระยาศรีพิพัฒน์ อัญเชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฎ พร้อม ด้วยเครื่องมงคล ราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาถวายแค่สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ ด้านล่างเป็นตัวอักษรภาษาฝรั่งเศส บอกงาน จำนวน ๔ บรรทัด
RECEPTION DES AMBASSADEURS การรับรองราชฑูต
DES ROIS DE SIAM แห่งพระเจ้ากรุงสยาม
AU PALAIS DE FONTAINEBLEAU ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล
27 JUIN 1861 ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔

ที่ขอบเหรียญ มีตัวอักษร ALPHEE DUBOIS เป็นนามช่างผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( แพ บุนนาค ) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา
รายนามคณะฑูต ครั้งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ เป็นราชฑูต พ.ศ. ๒๔๐๔
๑) ราชฑูต พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) จางวางพระคลังภาษีสินค้า เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาในปี พ.ศ.๒๔๑๗
๒) อุปฑูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
๓) ตรีฑูต พระณรงค์วิชิต เจ้ากรมตำรวจนอกขวา เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ เจ้าพนักงานผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ
๔) นายสรรพวิไชย นายยามนายมหาดเล็กเวรเดช น้องร่วมบิดามารดากับพระยาศรีพิพัฒน์
๕) หลวงอินทรมนตรี เจ้ากรมสรรพากรนอก
๖) ขุนมหาสิทธิ์โวหาร ปลัดกรมพระอาลักษณ์
๗) หมื่นจักรวิจิตร์ กรมแสงใน
๘) นายสมบุญ บุตรพระยาศรีพิพัฒน์ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๙) นายหวาด บุตรพระยาอภัยสงคราม ผู้เป็นอาว์ของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๑๐) นายชาย บุตรเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
นอกจากนี้ยังมีผู้น้อยไพร่ เป็นล่าม เสมียนและคนใช้อื่นอีกรวมเป็น ๒๗ คน

จิตรกรผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ ( Medallist ) ชื่อ Mr. Alphee DUBOIS ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๓๗๔ เป็นบุตรของ Joseph Eugene DUBOIS ช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เป็นศิษย์ของ J J BARRE และ DURET ได้รับรางวัล PRIX DU ROME ในปีพ.ศ.๒๓๙๘ และเหรียญรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย Alph?e DUBOIS เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นมีผลงานชิ้นเยี่ยมมากมาย เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาศิลปินชั้นนำในสาขาการทำแม่พิมพ์เหรียญ ผลงานของ Alphee DUBOIS ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการขึ้นมาใหม่ ( Present Renaissance) บุตรชายของ Alph?e DUBOIS ชื่อ Henry DUBOIS ก็เป็นจิตกรปั้นแบบเหรียญที่มีชื่อเสียงด้วย ตระกูล DUBOIS นี้ได้เป็นนักปั้นแบบเหรียญถึง ๓ ชั่วคน ผลงานทำแม่พิมพ์เหรียญราชฑูตนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยม ( Masterpiece ) ของ Alph?e DUBOIS ได้เลยทีเดียวโปรดสังเกตุฝีมือการทำรูปด้านหน้าและองค์ประกอบของเหรียญด้านหลัง Alph?e DUBOIS เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๔๘ อายุ ๗๔ ปี

ด้านข้างของเหรียญมีตัวอักษรบอกเนื้อโลหะที่ทำเหรียญ และประทับตราผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นตราผึ้ง ( ผึ้ง ในภาษาฝรั่งเศสคือ Abeille และ CUIVRE แปลว่าทองแดง ) ตราหรือโค้ดนี้ใช้ประทับในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๐๓ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๒๒ แสดงว่าเหรียญนี้ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่ราชฑูตเข้าถวายพระ ราชสาส์นคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔ หรือ หลังจากนั้นไม่นาน ดังปรากฎความในพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ความว่า ทรงได้รับเหรียญทอง เงิน และทองแดงที่ระลึกในการนี้จากสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๐๕ เป็นเวลาเพียง ๗ เดือนเศษหลังจากที่พระยาศรีพิพัฒน์เข้าถวายพระราชสาส์น และยังได้ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ อีกด้วย

ขอบเหรียญที่ตีตรา ผึ้ง ABEILLE

ขอบเหรียญที่ตีตรา CORNUCOPIA
นอกจากนี้โรงกษาปณ์ กรุงปารีส ได้ผลิตเหรียญนี้ย้อนยุคขึ้นอีกด้วย โดยพบว่าที่ขอบเหรียญประทับตรา Cornucopia หรือ Horn Of Abundance ที่เริ่มใช้ประทับขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ มาถึงปัจจุบัน

ตรา Cornucopia เป็นเครื่องหมายมงคลของกรีกโบราณ มีรูปเป็นเขาแพะที่โคนเขามีผลไม้ และ ดอกไม้ไหลออกมาให้บริโภคได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมด ตำนานกล่าวว่า เทวี อมาลธีอา ( AMALTHEA ) มีเพศเป็นแพะเป็นแม่นมของมหาเทพซูส ( ZEUS) ในวัยเยาว์ พระมหาเทพซูสอยู่ในวัยซุกซนได้หักเขาของเทวีอมาลธีอาโดยบังเอิญ ทำให้พระเทวีกลายเป็นยูนิคอร์น ส่วนเขาที่หักไปนั้นได้รับอาณุภาพวิเศษ ที่อำนวยพรให้ผู้ที่เป็นเจ้าของอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา

รูปหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปมหาเทพซูสเอนพระวรกาย ถือ CORNUCOPIA ณ PIAZZA CAMPIDOGLIO, KAPITOL กรุง ROME (ภาพจาก GOOGLE EARTH)
เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปครั้งนั้น อันประกอบด้วย

พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง

พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ

พระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชยาน เครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ส่วนพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ปิดแผ่นกระดาษประทับตราพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เก็บรักษาไว้ที่ กองจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส
พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องราชบรรณาการ พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ
ฝรั่งเศสได้ทำภาพสีน้ำมันบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้สองภาพ ภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานพระราชวังฟงแตนโบล เมืองฟงแตนโบล ทางใต้ของกรุงปารีส ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ภาพนี้มีองค์ประกอบเหมือนกับเหรียญที่ระลึกคราวนี้ ส่วนอีกภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ผนังด้านซ้ายมือหรือด้านตะวันออกของพระที่นั่งพุดตานถมตะทอง คือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ที่ท้องพระโรงกลางของในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง คู่กับภาพ พระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์ กรุงลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๔๐๐

ภาพถ่ายท้องพระโรงกลางในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่ผนังด้านตะวันออกคือด้านซ้ายมือของภาพนี้ติดภาพสีขนาดใหญ่สองภาพคือ ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ถัดมาเป็นภาพสีพระยาศรีพิพัฒน์ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ( ไม่เห็นในภาพถ่ายนี้ )

ภาพพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และคณะราชฑูตกรุงสยามเข้าเฝ้าอัญเชิญ พระราชสาส์นพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพานทองพร้อมด้วยเครื่องมงคลราชบรรณาการ และ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ถวายแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ โปรดสังเกตุพระมหาพิชัยมงกุฎทางด้านขวาของภาพพร้อมด้วยพระราชยาน พระที่นั่ง เครื่องสูงและพระกลด ที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศยังจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบล

ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปีพ.ศ. ๒๔๐๐
บรรณานุกรม
– พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ ๖ ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้า วงศานุวัตร เทวกุล , ๒๕ เมษายน ๒๕๓๔
– แม้นมาส ชวลิต , พระราชสาส์น ร.๔ บนแผ่นทอง , แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ( ป อ บ ) ปีที่ ๙ เล่ม ๑ – ๓ , มกราคม – ธันวาคม ๒๕๑๘
– สมมติอมรพันธุ์ , พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ, เรื่องตั้งเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์ , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู , ๑๖ ธ.ค. ๒๕๑๒
– สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , พระราชลัญจกร , กทม , ๒๕๓๘
– หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ , พระมหาปราสาท และ พระราชมณเฑียรสถาน ในพระบรมมหาราชวัง , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเฉื่อย ทวีวงศ์ ณ อยุธยา, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๗
– Chateau De Fontainebleau , Le Musee Chinois De L’imperatrice Eugenie ,Paris,1994.
– GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.
– Google Earth

แชร์

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on email
อีเมล์

หมวดหมู่

ได้รับความนิยม

ติดตามอัพเดทล่าสุด

สมัครรับจดหมายข่าวของเรา

ไม่มีสแปมการแจ้งเตือนเกี่ยวกับบทความใหม่ และ การอัปเดต.
ตามหมวดหมู่

บทความที่เกี่ยวข้อง

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ

สารคดีเล่าเรื่องผ่านเหรียญ EP1 | เหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ.๑๒๕ https://www.youtube.com/watch?v=gKf1rqiTXCg&list=PLseyPJqYT8qCaYHhzhvdMe-mu_7uJEj6R จากบันทึกของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้บันทึกไว้ว่างานวัดเบญเป็นงานที่สนุกมากและเป็นที่เลื่องลือของชาวพระนครในเวลานั้นและในปี พ.ศ.2449 ได้มีการประชันศาสตราวุธต่างๆเช่น หอก ดาบ ง้าว ทวน กริช ปืน และขอช้าง เป็นต้น….”.เราจึงได้นำเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและที่มาของเหรียญประชันอาวุธ วัดเบญจมบพิตร ร.ศ. ๑๒๕มา #เล่าเรื่องผ่านเหรียญ ให้ทุกคนได้ย้อนเวลากลับไปด้วยกันเพราะ #เหรียญที่ระลึกเปรียบเสมือนหลักกิโลทางประวัติศาสตร์

พ.ศ.๒๕๖๒ เหรียญบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า   โดยที่เป็นการสมควรให้มีเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึก พ.ศ. ๒๕๔๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พ.ศ. ๒๕๖๒ เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี

เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 4 พฤษภาคม 2562 ข้อมูลจำเพาะ ชนิดโลหะ เงิน ความบริสุทธิ์ 92.5% ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร น้ำหนัก 23 กรัม (ผลิตไม่เกิน 300,000 เหรียญ)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕)

พ.ศ.๒๔๑๓ (จ.ศ.๑๒๓๒) เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ (ส พ ป ม จ ๕) เหรียญ ส พ ป ม จ ๕ เป็นเหรียญรางวัลซึ่งพระราชทานแก่ผู้ที่แต่งซุ้มไฟประกวดในวัง เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษาในปีพศ 2413 ซึ่งทรงมีพระชนมายุ 17 พรรษา เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของรัชกาลที่๕ ตามประวัติกล่าวไว้ว่าทรงพระราชทานเป็นเนื้อกะไหล่ทอง เงินและทองแดง จำนวนที่โปรดเกล้าให้สร้าง ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด