พ.ศ.๒๔๕๒ (ร.ศ.๑๒๘) เหรียญที่ระลึกในงานพระศพพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษรัชสมโภช พร้อม ยู่อี่ และ เหรียญอรุณเทพบุตร
พระองค์เจ้าอุรุพงษรัชสมโภช ประสูติวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๖ เป็นพระโอรสองค์ที่ ๒ ในเจ้าจอมมารดาเลื่อน (นิยะวานนท์) สิ้นพระชนม์พระชันษาเพียง ๑๗ ปี (นับแบบประเพณีโบราณ) เมื่อ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๒ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชบิดา แต่เป็นวันโศกเศร้ายิ่งของพระองค์ และ อีกเพียงปีเดียว สมเด็จพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคตประมาณ ๑เดือน หลังจากทำบุญครบปีวันสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสพระองค์นี้ พระองค์เจ้าอุรุพงษฯ เป็นพระราชโอรส ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดปรานและเอ็นดูมาก (คงเช่นเดียวกับพ่อแม่ท่านอื่นๆยิ่งท่านมีพระราชโอรสธิดา ในตอนพระชนมายุมากขึ้นท่านคงจะรักเอ็นดูพระองค์น้อยๆทบทวีคูณ)
เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้มีสองแบบ แบบแรกเป็นชนิดหน้าพระรูปของพระองค์เจ้าฯ เนื้อเงินกะไหล่ทอง กับอีกแบบเป็นหน้าอรุณเทพบุตร ชนืดเนื้อเงิน ในตำราส่วนใหญ่ รวมถึงตำราของกองกษาปณ์ มักจะมีรูปให้ดูเฉพาะชนิดหน้าพระรูปเท่านั้น ส่วนอรุณเทพบุตรจะไม่ค่อยพบเห็น
เหรียญอรุณเทพบุตร ด้านหลังเหมือนกัน พอดีมีผู้อธิบายตำนานอรุณเทพบุตรไว้ จึงขอนำมาลงไว้ที่นี้ครับ (ถ้าขี้เกียจอ่าน ก็ข้ามไปได้เลย) ” พญานาคตามวรรณคดีนั้นคืออมนุษย์พวกหนึ่งเป็นกึ่งเทพกึ่งสัตว์ เป็นเจ้าแห่งงูอยู่ในบาดาลคือ ใต้แผ่นดินที่เรา อาศัยอยู่ลึกลงไปรูปร่างโดยทั่วไปเป็นงูใหญ่แต่มีเกล็ดและมีหงอนงามมาก พญานาคนั้นเป็นโอรสของพระกัสยปเทพบิดร (ซึ่งเป็นโอรสของพระพรหมอีกทีหนึ่ง) กับนางกัทรุ (ธิดาของพระทักษะประชาบดี) เมื่อกำเนิดมามารดาได้คลอดบุตรออกมาเป็นไข่ ๑,๐๐๐ ฟอง และ ๕๐๐ ปี ต่อมาก็แตกออกมาเป็นพญานาคนี้ทั้งหมด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงนาคแล้วก็อดไม่ได้ที่จะต้องกล่าวถึงเรื่องครุฑแทรกเข้ามาด้วย คือในขณะเดียวกันกับพวกนาคจะเกิดขึ้นนี้ พระกัสยปเทพบิดรมีชายาอีกนางหนึ่งคือนางวินตา
ซึ่งคาดว่าจะมีเรื่องระหองระแหงกับนางกัทรุมารดาของพวกนาคทั้งที่เป็นพี่น้องกัน สาเหตุนั้นคือเมื่อนางกัทรุตั้งครรภ์ นางขอพรพระกัสยปให้มีโอรสที่มีฤทธิ์หนึ่งพัน พระกัสยป ผู้เป็นพระสวามีก็ให้พรตามที่นางขอ นางวินตาเห็นดังนั้นก็ขอพรบ้าง แต่ขอให้มีโอรสเพียง ๒ องค์ แต่ให้มีฤทธิ์อำนาจเหนือกว่าโอรสของนางกัทรุ ดังนั้นเพียงแค ขอพรก็เห็นได้แล้วว่าจะต้องเกิดเรื่อง เพราะใครคงไม่อยากให้ลูกคนอื่นดีกว่าลูกตนเอง แต่ยังก่อนจนกระทั่งเวลา ผ่านไป ๕๐๐ ปี นางทั้งสองต่างก็คลอดโอรส โดยนางกัทรุคลอดออกมาเป็นนาคทั้งหมด ส่วนนางวินตา คลอดโอรสออก มาเป็นไข่ ๒ ฟอง แต่ยัง ไม่แตกออกมา นางร้อนใจจึงรีบทุบไข่ ฟองหนึ่งออกมา ผลปรากฏว่าไข่ฟองแรกของนางเกิดเป็นพระอรุณเทพบุตร มีรูปร่างใหญ่โต
แต่มีร่างเพียงครึ่งเดียวเพราะ เกิดก่อนกำหนด พระอรุณโกรธแม่มากเลยสาปให้นางวินตาต้องเป็นทาสนางกัทรุ ๕๐๐ ปีจนกว่าโอรสองค์ที่สองคือครุฑ จะถือกำเนิดแล้วจะมา ปลดปล่อยให้เป็นไท ส่วนตนเองก็เหาะขึ้นฟ้าไปเป็น สารถีให้พระอาทิตย์ ต่อมานางกัทรุกับนางวินตาเกิดพนันขันต่อกันขึ้น ( แสดงว่าการพนันมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว) ว่าม้าเทียมรถพระอาทิตย์คือม้าอุจไฉสรพะมีสีอะไร นางวินตาว่ามีสีขาว ส่วนนางกัทรุว่ามีสีดำ ซึ่งความจริงม้านั้นมีสีขาวทั้งตัว นางกัทรุในตอนหลังทราบว่าม้าเทียมรถพระอาทิตย์มีสีขาวก็กลัวจะแพ้พนันเลยให้นาคที่เป็นโอรสไปพ่นพิษใส่จนกลายเป็นสีดำหรือบางตำราก็ว่าให้นาคแปลงตัวไป แทรกขนม้าจนกลายเป็นขนสีดำ พอเช้ามานางวินตาก็ต้องแพ้พนันไปตามระเบียบต้องยอมตัวเป็นทาสตามเดิมพัน จวบจน ๕๐๐ ปี ให้หลังครุฑจึงเกิดมาเป็นพญานกมีฤทธิ์มาก เห็นแม่เป็นทาสก็เลยหาทางช่วยโดยไปต่อรองกับพวกนาคว่าจะขโมยน้ำอมฤตมาให้พวกนาคดื่มเพื่อจะได้เป็นอมตะซึ่งครุฑก็ขโมยมาจากพระอินทร์ได้สำเร็จ”
ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ : เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมตัดทั้งสี่ด้าน มีห่วงอยู่ด้านบน
ด้านหน้า : เป็นพระรูป ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชริมขอบเหรียญ ด้านซ้ายมีอักษรจารึก “ Gh.Suwat D.Fourcade ” ด้านขวา “SUSSEF DES PARIS ”
ด้านหลัง : มีข้อความว่า
“ พระเจ้าลูกยาเธอ
พระองค์เจ้า
อุรุพงษ์รัชสมโภช
ประสูติ
๑๕ ตุลาคม ๑๑๒
สิ้นพระชนม์
๒๐ กันยายน ๑๒๘ ”
ชนิด : ทองขาว
ขนาด : กว้าง 18 มิลลิเมตร ยาว 29 มิลลิเมตร
ลักษณะของยู่อี่ ยู่อี่ (หยู่อี่, หรือ หยูอี้) หมายถึงคทา อันเป็นเครื่องยศชั้นสูงที่จักรพรรดิทรงมอบให้กับขุนนางผู้ใกล้ชิด หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ แสดงถึงความมีวาสนา ใช้ประดับเหรียญที่ระลึกซึ่งพระราชทานเป็นรางวัล ในการประกวดเครื่องโต๊ะบูชา หรือใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง ในการจัดเครื่องโต๊ะบูชา
ด้านหน้า ทำจากแผ่นเงินเคลือบกะไหล่ทอง เป็นวิมานทรงเก๋งจีน ประทับอยู่บนก้อนเมฆ เจาะช่องตรงกลางเพื่อแสดงตัวเหรียญที่ระลึกฯ ในก้อนเมฆด้านล่างเก๋งจีน มีตัวเลขไทยอ่านกลับ จากขวาไปซ้ายว่า ๑๒๘ ซึ่งเป็นปีที่สิ้นพระชนม์
ด้านหลัง ช่องตรงกลางทำเป็นกรอบรางรับตัวเหรียญ ด้านบนยอดมีห่วง ด้านล่างตรงก้อนเมฆมีท่อทรงกระบอกขนาดเล็กสำหรับยึดเสียบกับตัวก้าน เพื่อใช้ปักบนกระถางธูป