Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญที่ระลึกทรงสมโภซเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่.๑

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญที่ระลึกทรงสมโภซเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่.๑

พ.ศ.๒๔๔๐(รศ. ๑๑๖) เหรียญที่ระลึกทรงสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ ๑

ลักษณะ เป็นรูปใบโพธิ์ ไม่มีก้าน
ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธชินสีห์ เบื้องล่างมีข้อความว่า


“งาร สมโภช
เมื่อเสดจกลับ
จากยุโรป
๒๔๔๐”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างเป็นที่ระลึกในวโรกาสที่เสด็จกลับจากยุโรป ใน พ.ศ. ๒๔๔๐

ชนิด เงิน ทองแดง
ขนาด กว้าง ๒๙ มิลลิเมตร ยาว ๓๔ มิลลิเมตร
สร้าง พ.ศ. ๒๔๔๐

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ ๒๔๔๐ (รศ ๑๑๖) เหรียญต้นแบบ และเหรียญตัวอย่าง ประพาสยุโรปครั้งที่๑

พ.ศ ๒๔๔๐ (รศ ๑๑๖) เหรียญต้นแบบ และเหรียญตัวอย่าง ประพาสยุโรปครั้งที่๑

พ.ศ. ๒๔๔๐ (รศ ๑๑๖) เหรียญต้นแบบ และเหรียญตัวอย่าง ประพาสยุโรปครั้งที่๑

๑) เหรียญต้นแบบ เนื้อบรอนซ์ ชนิดแยกเป็น ๒ ชิ้น เมื่อนำมาประกบกันจะแนบเข้ากันได้สนิทพอดี สันนิษฐานว่าเป็นเหรียญต้นแบบที่จัดทำขึ้น ในระหว่างที่ทำการสร้างแม่พิมพ์ที่จะใช้ในการขึ้นรูปเหรียญตัวจริง ขอบเหรียญจะมีขีด mark ตำแหน่ง และเลขอาราบิค 1111 ด้านหลังเหรียญทั้งคู่มีลักษณะเป็นตัวผู้กับตัวเมีย (นูนขึ้น และเว้าลง) ประกบเข้ากันได้พอดี

แผ่นหน้า แสดงทั้งด้านหน้า และด้านหลัง

แผ่นหลัง แสดงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง 

๒) เหรียญตัวอย่างชนิดเนื้อดีบุก เป็นเหรียญที่ไม่ได้ใช้พระราชทานเป็นทางการ คาดว่าเป็นเหรียญที่ขึ้นรูปเพื่อทดสอบแม่พิมพ์

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญเสด็จฯประพาสยุโรป ครั้งที่๑

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญเสด็จฯประพาสยุโรป ครั้งที่๑

พ.ศ.๒๔๔๐ เหรียญเสด็จฯประพาสยุโรป ครั้งที่ ๑

“…คือพระมหากษัตราธิราชเจ้า ผู้สยบเหล่ามหาอำนาจ ….ด้วยกุศโลบายอันสะท้านโลกที่มีชื่อว่า เสด็จประพาสยุโรป ”

คำบรรยายภาพ : เหรียญประพาสยุโรปชนิดเนื้อเงินกะไหล่ทอง เป็นชนิดที่พบเห็นยากมาก รองจากเนื้อทองคำ และเป็นกะไหล่ที่ทำเดิม มาจากโรงกษาปณ์แห่งปารีส อนึ่ง เหรียญประพาสยุโรป จะมีผิวพ่นทรายละเอียด (Sand Blast) ที่บางครั้งเรียกกันว่าผิวแบบเปลือกส้ม

ในสมัยนั้น ลัทธิจักวรรดินิยมกำลังระบาดอยู่ทั่วไปในอาฟริกาและประเทศทางภาคตะวันออก ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก อาทิอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และเสปน กำลังนิยมการล่าเมืองขึ้น เพื่อแสวงหาทรัพยากร และความมั่งคั่งจากประเทศอื่นๆที่ตกเป็นอาณานิคม ดังนั้นโดยพระปรีชาสามารถของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล็งเห็นการณ์ภายหน้า หากเมืองไทยไม่ก้าวหน้าและตามไม่ทันประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น เมืองไทยจะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้น ไม่ของประเทศอังกฤษก็ประเทศฝรั่งเศส เพราะเป็นที่รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังคิดจะแบ่งเอาเมืองไทยมาเป็นเมืองขึ้น โดยเอาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นเขตแดนเมืองไทย จึงมีความจำเป็นอย่างรีบด่วนที่จะต้องจัดการบ้านเมืองให้ก้าวหน้าและทันกับเหตุการณ์ พระองค์ท่าน จึงได้ตกลงพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป เพื่อทรงเยี่ยมเป็นทางการ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งแรกนี้ พระองค์ทรงมุ่งไปประเทศเยอรมนี ซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจ ซึ่งไม่เคยรุกรานดินแดนไทยเลย ต่อจากนั้นก็เสด็จไปประเทศอิตาลีประเทศรัสเซียซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเหมือนกันต่างก็มีพระมหากษัตริย์ปกครอง นอกจากนั้นพระองค์ยังได้เสด็จไปประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสด้วย การเสด็จประพาสของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงครั้งนั้นได้ผลดีเหลือหลายอย่างไม่คาดหมาย พระมหากษัตริย์แห่งประเทศเยอรมนีและประเทศรัสเซียทรงให้การรับรองพระเจ้าแผ่นดินของไทยอย่างประเทศมหาอำนาจ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ฝากฝังพระราชโอรสให้ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศเยอรมนีและประเทศรัสเซีย การเสด็จประพาสยุโรปครั้งนี้เป็นเหตุให้ประเทศมหาอำนาจที่ชอบล่าเมืองขึ้นสมัยนั้นเพลามือและยอมให้เกียรติประเทศไทยขึ้นมาก นับว่าพระองค์ท่านได้ดำเนินงานทางการเมืองได้อย่างสุขุมคัมภีรภาพ

เหรียญประพาสยุโรปชนิดเนื้อเงิน ๑

หรียญประพาสยุโรปชนิดเนื้อเงิน ๒
ขอบเหรียญ

ในการเสด็จประพาสยุโรปของพระองค์ในครั้งนี้กินเวลานานถึง ๒๕๔ วัน ระหว่างวันที่ ๗ เมษายน – ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ระยะทางที่ต้องเสด็จฝ่าคลื่นลมประมาณ ๓๔,๔๑๖ ไมล์ ด้วยพระบรมราโชบายหลักที่สำคัญ๒ ประการคือ เพื่อศึกษาเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของประเทศในยุโรปแล้วนำมาปรับปรุงใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัย มั่นคง และเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และการประชาสัมพันธ์แนะนำประเทศให้เป็นที่รู้จักและนิยมนับถือในฐานะประเทศเอกราชประเทศหนึ่ง ซึ่งก็นับได้ว่าสัมฤทธิผลดังลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เมื่อครั้งดำรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิวัดโสภณ ราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๙ ความว่า “…The King of Siam comes on his own hook, he depends on no body and no country… ” และด้วยพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ ในฐานะผู้นำประเทศ ทุกอย่างก็เป็นไปดังพระประสงค์ สยามประเทศในขณะนั้น ได้รับการยอมรับจากมหาชนชาวยุโรป และบรรดาราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรม มิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนที่จะให้ใครมายึดครองได้โดยง่าย นับได้ว่า นโยบายการต่างประเทศระดับโลก ของพระองค์ในครั้งกระนั้น ส่งผลให้ประเทศไทย คงความเป็นไท มาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

เหรียญประพาสยุโรปชนิดเนื้อบอรนซ์ ๑

เหรียญประพาสยุโรปชนิดเนื้อบอรนซ์ ๒

เหรียญประพาสยุโรป เนื้อบอรนซ์ ๒ พร้อมตลับ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกในการเสด็จประพาสทวีปยุโรปเป็นครั้งแรก นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และทวีปเอเชียที่ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆในยุโรป เหรียญนี้ผลิตโดย Monnaie De Paris ( โรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส ) ในกระทรวงการคลังฝรั่งเศส ก่อตั้งในปี คศ ๑๗๙๖ และนายช่างผู้ปั้นแบบและแกะพิมพ์ ชื่อ August Patey เป็นผู้ลงลายเซนต์กำกับบนเหรียญนี้ด้วยตัวเอง สัญลักษณ์ของโรงกษาปณ์ (Mint Mark) มีประทับไว้ตรงขอบเหรียญ ซึ่งเมื่อขยายออกมาจะเป็นรูปรวงธัญพืช ( ดูคล้ายถุงเงินปลายเปิด ) มีเงินไหลทะลักออกมา ซึ่งเรียกว่า “Corn Of Abundance” ซึ่งหมายความถึง “ รวงแห่งความอุดมสมบูรณ์ ” ต้องใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็น เพราะมีขนาดเล็กมาก Mint Mark ที่เป็นรูปถุงเงินนี้ ถูกใช้ประทับบนเหรียญที่ผลิตขึ้นตั้งแต่หลังวันที่ 1 มกราคม คศ 1880 และหลัง วันที่ 1 กรกฎาคม คศ 2003 เป็นต้นมา ทางโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีสก็ได้เปลี่ยนไปใช้สัญลักษณ์ใหม่แบบอื่นแล้ว

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน มีอักษรภาษาฝรั่งเศสที่ขอบเหรียญเงินว่า “ MONNAIE DE PARIS ARGENT ” และที่ขอบเหรียญทองแดงว่า “ MONNAIE DE PARIS BRONZE”
ด้านหน้า : เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญริมขอบมีพระปรมาภิไธย “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ” และที่ด้านซ้ายของพระบรมรูปเป็นชื่อผู้ออกแบบ “Aug Patey”
ด้านหลัง : ข้อความว่า

“ ที่รลึก

ในการเสด็จพระราชดำเนิน

ประพาสยุโรป

ตั้งแต่วันที่ ๗ เดือนเมษายน

ถึงวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม

รัตนโกสินทร ๓๐ ศก

๑๑๖ ”
ชนิด : ทองคำ เงินกะไหล่ทอง เงิน และบรอนซ์
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 50 มิลลิเมตร

Categories
หมวดเหรียญไทยที่ออกโดยชาวต่างชาติ

พ.ศ. ๒๔๔๐ เหรียญที่ระลึก รัชกาลที่ ๕ เสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส

 โดย พฤฒิพงษ์ เชิดเกียรติกุล 

หนึ่งในเหรียญที่ระลึกที่มีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ และหาชมได้ยากมาก คือเหรียญที่ระลึกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มิลลิเมตร ซึ่งทาง โรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส (Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน) ได้จัดทำเป็นพิเศษเพื่อทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ ในจำนวนเพียงเล็กน้อย เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีสเป็นครั้งแรก ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๐ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑      เหรียญนี้ ด้านหนึ่งจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า “SA MAJESTE LE ROI DE SIAM A VISITE LA MONNAIE DE PARIS LE 16 SEPTEMBRE 1897” ซึ่งมีความหมายว่า กษัตริย์แห่งประเทศสยาม เสด็จเยือนโรงกษาปณ์แห่งกรุงปารีส วันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1897 (พ.ศ.๒๔๔๐) ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระราชวังซึ่งใช้เป็นอาคารของโรงกษาปณ์นั่นเอง และมีคำจารึกภาษาลาตินที่วงขอบด้านบนว่า AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO ซึ่งหมายความถึงช่างทำเหรียญกษาปณ์ ซึ่งในยุคโรมัน ช่างทำเหรียญกษาปณ์ถูกขนานนามว่า “tresviri aere argento auro flando feriundo” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “three men for striking (and) casting bronze, silver (and) copper (coins)” ซึ่งก็หมายถึงช่างทำเหรียญนั่นเอง ส่วนด้านล่าง จารึกคำว่า AEDES AEDIFICATAE. M.DCC.LXX. และมีชื่อปฏิมากรผู้สร้างเหรียญอยู่ด้านล่างซ้ายมือ L. LEONARD F.  

คำบรรยายภาพ: La Monnaie de Paris, หรือ French Mint ในปัจจุบัน       

จากการค้นคว้าใน จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖ โดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) พบข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ กันยายนร.ศ.๑๑๖ ที่เกี่ยวข้อง บันทึกไว้ดังนี้ …ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง มองซิเออร์ฮาโนโตเสนาบดีว่าการต่างประเทศมารับเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวออกทรงเครื่องอย่างเมื่อเช้า เสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์ เรียกว่ามิวเซียมมงเน (Musee de la Monnaie) เจ้ากรมพิพิธภัณฑ์และเจ้าพนักงานผู้ใหญ่รับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นี้ มีสิ่งของหัวเมืองอินเดีย สยาม เขมร ลาว จีน ญี่ปุ่น ฝ่ายตะวันออกเป็นต้นว่า พระพุทธรูป และรูปที่นับถือของชนชาวตะวันออกต่างๆ ในห้องหนึ่งมีสิ่งของลาวทางเมืองหลวงพระบางเป็นพื้น เมื่อได้ทอดพระเนตรสิ่งของในมิวเซียมมงเนแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงกระษาปณ์ซึ่งเสนาบดีกระทรวงคลังคอยรับและนำเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ได้ทอดพระเนตรที่ไว้ทองลิ่มเงินลิ่ม เครื่องจักรหล่อเบ้าหลอมทำเงิน …แล้วเสนาบดีกระทรวงคลังเชิญเสด็จพระราชดำเนินชั้นบนทอดพระเนตร ตัวอย่างเงินตัวอย่างทอง ซึ่งทำใช้ในประเทศต่างๆ และตัวอย่างเงินซึ่งโรงกระษาปณ์นี้ได้ทำเป็นอันมาก …แล้วประทับมีพระราชดำรัสด้วยเสนาบดีกระทรวงคลังอยู่ประมาณ ๑๕ นาที จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังบ้านที่ประทับ…      

นอกจากนี้ จากการสอบทานเอกสารอ้างอิงของโรงกษาปณ์แห่งปารีส “Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979]) ซึ่งหมายถึงบันทึกการมาเยือนโรงกษาปณ์อย่างเป็นทางการ และเป็นการส่วนตัว (ของประมุขแห่งรัฐ และบุคคลสำคัญ) ในระหว่างปี ค.ศ.1717 ถึง 1979 พบข้อมูลที่สำคัญดังนี้“MC-1, 34 / 1897. Visite de Chulalongkorn, roi du Siam (16 septembre).
Medailles d’or, d’argent et de bronze << Ambassade du Siam >> en 41 mm (re’gne de Louis XIV) et en 72 mm.”ข้อความนี้ มีความหมายชัดเจนว่า กษัตริย์จุฬาลงกรณ์แห่งสยาม ได้มาเยือน (วันที่ 16 กันยายน) และที่น่าสนใจคือในบรรทัดถัดมาได้ระบุถึงเหรียญราชทูตสยาม (โกษาปาน) ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ชนิดทองคำ เงิน และบรอนซ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 มม. และขนาด 72 มม ซึ่งน่าจะได้มีการทูลเกล้าถวายแด่พระองค์ท่านเป็นที่ระลึกในการเยือนครั้งนั้นด้วย     

 อนึ่ง เหรียญที่ระลึกเสด็จเยี่ยมโรงกษาปณ์แห่งปารีสเหรียญนี้ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของพระองค์ และการเสด็จเยือนโรงกษาปณ์ครั้งนี้ พระองค์ฯ ยังได้พบกับปฏิมากรเอก Henri Aguste Jules Patey ผู้ซึ่งในครานั้นได้ปั้นพระรูปแบบศิลปะนูนต่ำ โดยที่พระองค์ท่านได้ทรงนั่งเป็นแบบให้เองโดยตรง และได้จัดสร้างเป็นเหรียญที่ระลึกเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่๑ อันเป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง ในกาลต่อมา นายช่าง Patey ผู้นี้ก็ยังเป็นผู้ออกแบบจัดสร้างเหรียญรัชกาลที่๕ อีกหลายเหรียญ อาทิเช่น เหรียญเสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ.๑๒๖, เหรียญรัชมังคลาภิเศก, และเหรียญบาท ช้างสามเศียร เป็นต้น       เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่านิยมในการทำเหรียญที่ระลึก เสด็จฯเยี่ยมโรงกษาปณ์นี้ คงจะได้แพร่ไปยังแผ่นดินสยาม ในช่วงเวลานั้นด้วย เพราะในวันที่ ๘ ธันวาคม ปีเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงกษาปณ์สิทธิการ และในการนี้โรงกษาปณ์สิทธิการได้แสดงการทำเหรียญถวายทอดพระเนตร โดยทำเป็นเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจำนวนไม่มากนัก และได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญนั้นแด่พระองค์ และผู้ตามเสด็จ เหรียญนี้เป็นเหรียญกษาปณ์ตราพระรูป และด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน และเพิ่มคำว่า โรงกระสาป ๑๑๖ ไว้รอบพระบรมรูป และเหรียญดังกล่าวนี้เรียกกันในหมู่นักสะสมว่า เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป ร.ศ.๑๑๖ ซึ่งก็จัดเป็นเหรียญที่หายากและมีมูลค่าสูงยิ่ง ราคาปัจจุบันถึงหกหลักปลายๆ

คำบรรยายภาพ: เหรียญเสด็จฯเยี่ยมโรงกระสาป (สิทธิการ) ร.ศ.๑๑๖

ลักษณะจำเพาะ
ด้านหน้า มีคำจารึกภาษาฝรั่งเศสว่า
SA MAJESTE
LE ROI DE SIAM
A VISITE
LA MONNAIE DE PARIS
LE 16 SEPTEMBER
1897
ด้านหลัง : เป็นรูปอาคารที่ทำการโรงกษาปร์แห่งปารีส ซึ่งปัจจุบันคือ French Mint และมีรูปเรือล่องอยู่ในคลองด้านหน้าอาคาร มีคำจารึกว่า
AURO ARGENTO AERI FLANDO FERIUNDO

AEDES AEDIFICATAE.
M.DCC.LXX.
ปฏิมากร : L. LEONARD F. มีชื่อจารึกอยู่ด้านซ้ายใต้รูปลำคลอง

ขนาด 41 มิลลิเมตร มี Mint Mark รูป Cornucopia และคำว่า Bronze ตอกประทับบนขอบเหรียญ ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
ชนิดเนื้อบรอนซ์ ทำผิวแบบ Gilded Finishing (คือตกแต่งให้ผิวดูเป็นประกายคล้ายมีทองฉาบอยู่บางๆ)

ข้อมูลอ้างอิง

1) จดหมายเหตุ เสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.๑๑๖, เรียบเรียงโดย พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ)

2) Catalogue des fonds d’archives de la Monnaie de Paris” โดย Jean-Marie DARNIS ในหัวข้อ Les visites officielles et privees aux << Monnaies >> (1717 – [1979])

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญประพาสมาลา

The Prabas Mala Medal
ใช้อักษรย่อ ร.ป.ม. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์พระราชทานเป็นที่ระลึก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก เพื่อเจริญพระราชไมตรี ตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆในยุโรป      

                          
เหรียญนี้มี ๓ ชนิด คือ เหรียญเงินกะไหล่ทอง เหรียญเงิน และเหรียญบรอนซ์กะไหล่เงิน เป็นเหรียญรูปกลม


ด้านหน้า มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องซ้าย ประดิษฐานอยู่กลาง ที่เบื้องขวาของพระบรมรูปมีอักษรโรมันว่า AUG PATEY และมีอักษรที่ริมขอบเบื้องบนว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”


ผู้ออกแบบ : AUGUSTE PATEY
ปัจจุบันเป็นเหรียญที่พ้นสมัยพระราชทาน

ด้านหลัง มีอักษรว่า “ที่รฦกในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ตั้งแต่วันที่ ๗ เดือนเมษายน ถึงวันที่ ๑๖ เดือนธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๓๐ ๑๑๖” มีห่วงใช้ห้อยกับแพรแถบสีเหลืองริมสีน้ำเงินกับแดง กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร ริมขอบนอกของเหรียญด้านล่างมีข้อความอักษรโรมันบอกชนิดของโลหะ
สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ใช้ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานฝ่ายใน แพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ใช้ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

คำบรรยายภาพ : เหรียญประพาสมาลาชนิดเนื้อเงินกะไหล่ทอง

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อบรอนซ์กะไหล่เงิน

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อ เงิน

ตัวอย่างเหรียญประพาสมาลาเนื้อกะไหล่ทอง
Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

พ.ศ.๒๔๔๐ (ร.ศ.๑๑๖) เหรียญราชรุจิ

เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีระกา ร.ศ.๑๑๖ ( พศ ๒๔๔๐ ) ก่อนเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก สำหรับพระราชทานแก่ผู้มีความชอบในพระองค์ รองจากเหรียญรัตนาภรณ์ ทรงพระราชทานแก่ข้าราชการในพระราชสำนัก นายทหารรักษาพระองค์ และผู้มีความชอบในพระราชสำนัก ทั้งสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการในพระราชสำนักแห่งพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศชั้นมหาดเล็กรับใช้เป็นต้น เหรียญมีลักษณะเป็นเหรียญเงิน และเหรียญกะไหล่ทอง เป็นเหรียญรูปกลมแบน ใช้อักษรย่อว่า “ ร . จ . ท ( ๕ )” ทางด้านหลัง มีอักษรที่กลางวงจักรว่า “ ราชรุจิยา ทิน์นมิท ๐ ” ซึ่งแปลว่า “ เหรียญนี้ ทรงพอพระราชหฤทัย พระราชทาน ” และประดับกับแพรแถบสีแดง สำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า ( บุรุษ ) ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานฝ่ายใน ( สตรี ) เป็นแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เหรียญที่ ระลึกการพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัตร รศ ๑๑๗ (เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดซาวุธ)

พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เหรียญที่ ระลึกการพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัตร รศ ๑๑๗ (เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดซาวุธ)

พ.ศ.๒๔๔๑ เหรียญที่ระลึกการพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรณบัตร รศ ๑๑๗
( เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ )

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชทานเป็นที่ระลึกในพระราช พิธีเฉลิมพระสุพรรบัตร เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พ.ศ. ๒๔๔๑ เหรียญที่แสดงไว้เป็นชนิดเนื้อทองแดง

พลเรือเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เมื่อทรงพระเยาว์ทรงพระนามว่า ทูลกระหม่อมเอียดเล็ก ทรงรับการศึกษาขั้นต้น จาก โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงบวชสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงเดินทางไปศึกษาต่อที่ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงศึกษาวิชาทหารเป็นระยะเวลาสั้นๆ และเสด็จกลับประเทศไทยมาศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก ทรงรับราชการตำแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วไปดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ทรงมีพระกรณียกิจที่สำคัญในกองทัพเรือ คือทรงดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ต่อจาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗ ทรงเปลี่ยนระเบียบการปกครองบังคับบัญชาเรือหลวงใหม่ แต่เดิมนั้นการบังคับบัญชาในเรือหลวง แบ่งออกเป็น ๒ กระบวนเรือ แต่ละกระบวนเรือต่างก็เป็นอิสระแก่กัน ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ พระองค์ทรงเห็นว่าไม่เหมาะสม ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่เป็นแบบฉบับเดียวกัน จึงให้รวมกระบวนเรือทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า กองทัพเรือ มีผู้บังคับบัญชากองทัพเรือเป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อกระทรวงทหารเรือ และให้แบ่งแยกกองทัพเรือออกเป็น ๓ กองเรือ คือ กองเรือปืน กองเรือใช้ตอร์ปิโด และกองเรือช่วยรบ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ทรงอภิเษกสมรสกับ แผ้ว สุทธิบูรณ์ ไม่ทรงมีพระโอรสและพระธิดา (ต่อมาหม่อมแผ้ว ได้สมรสใหม่กับ หม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์ ภายหลังได้เป็น ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นาฏศิลป์ พ.ศ. ๒๕๒๘)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบ ( โรคไต ) สิ้นพระชนม์ที่ พระตำหนักวังสวนกุหลาบ พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ สิริพระชนมายุได้ ๓๖ พรรษา พระองค์มีพระนามอย่างเต็มว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายอัษฎางค์เดชาวุธ วิสิฏฐวิสุทธิลักษณโสภณ อุบัติดลกาลนิยม ปฐมปริวัตรรัตนโกสินทรศก ศตสาธกอัษโฎดดร สถาพรมงคลสมัย นราธิปไตยบรมนาถ จุฬาลงกรณ์ราชวโรรส อดุลยยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภโตปักษ์วิสุทธิกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ เป็นเหรียญรูปกลมแบน วงขอบนอกเรียบลักษณะ:
ด้านหน้า กลางเหรียญเป็นรูปตราแผ่นดิน รอบวงขอบเหรียญมีข้อความว่า ” ที่ระลึกการพระราชพิธีเฉลิมพระสุพรรบัตร รัตนโกสินทรศก ๑๑๗
ด้านหลัง กลางเหรียญมีข้อความว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ วิสิฐวิสุทธลักษณโสภณ อุบัติดลกาลนิยม ประถมบริวัตร รัตนโกสินทรศก สตสธภอัษโฎดดร *************สถาพรมงคลสมัย นราธิปไตยบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวโรรส อดุลยยศอุกฤษฐ์ศักดิ์ อุภโตปักษ์วิสุทธิกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร ”
ชนิด เงิน และทองแดง
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๕ มิลลิเมตร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เหรียญร๔ เสมอ ร๒ ทวีคูณ

พ.ศ.๒๔๔๑ (ร.ศ.๑๑๗) เหรียญร๕ เสมอ ร๒ ทวีคูณ

พ.ศ.๒๔๔๑ เหรียญร๕ เสมอ ร๒ ทวีคูณ

เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่๕ เสมอด้วยรัชกาลที่๒ ทวีคูณ หรือเรียกอีกอย่างว่าเหรียญทวีธาภิเศก สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่๕ ทรงครองราชครบ ๓๐ พรรษา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สร้างในพศ ๒๔๔๑

เทียบกันสองเหรียญ

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ เป็นรูปดาว ห้าแฉก ด้านบนมีห่วงเชื่อมขวาง และมีห่วงร้อย
ด้านหน้า มีอักษรตรงกลางว่า “ ทวีธาภิเศก ” ด้านซ้ายมีตราพระราชลัญจกรพระจุลมงกุฎ ( พระเกี้ยว ) ด้านขวามีตราครุฑยุดนาค
ด้านหลัง มีข้อความว่า “ ที่รฤกรัชกาลที่ ๕ เสมอด้วยรัชกาลที่ ๒ ทวีคูณ รัตนโกสินทร์ศก ๓๑ ๑๑๗ ”
ชนิด ทองคำ กะไหล่ทอง เงิน
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๖ มิลลิเมตร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) เหรียญที่ระลึกสมโภชพระพุทธนรสีห

พ.ศ.๒๔๔๒ (ร.ศ.๑๑๘) เหรียญที่ระลึกสมโภชพระพุทธนรสีห

พ.ศ.๒๔๔๒ ( รศ. ๑๑๘ ) เหรียญที่ระลึกสมโภชพระพุทธนรสีห์

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า เป็นรูปพระจุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) เปล่งรัศมี อยู่เหนือเลข “๕” กระหนาบซ้ายขวาด้วยลายกระหนก

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

ด้านหลัง มีข้อความว่า

“การสมโภช
พระพุทธนรสีห์
แลการผูกพัทธสีมา
วัดเบญจมบพิตร
รัตนโกสินทรศก๓๒
๑๑๘”

ตัวอย่างเหรียญเพิ่มเติม

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธนรสีห์ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒


พระพุทธนรสีห์เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน เดิมประดิษฐานในพระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเสด็จไปตรวจราชการ ได้อัญเชิญลงมาไว้สำหรับสักการะ


ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้แห่ไปประดิษฐาน ณ พลับพลา สวนดุสิต และถวายพระนามว่า “พระพุทธนรสีห์” ต่อมาโปรดฯ ให้แห่มาประดิษฐาน ณ อุโบสถชั่วคราววัดเบญจมบพิตรที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ก่อสร้างขึ้นทรงบรรจุพระบรมธาตุในพระศกพระพุทธนรสีห์และให้ตั้งพิธีเวียนเทียนสมโภช และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ และใน พ.ศ. ๒๔๔๘ โปรดฯ ให้หล่อจำลองพระพุทธชินราชแล้วโปรดฯ ให้เชิญพระพุทธนรสีห์ไปประดิษฐานในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ดังเดิม

ชนิด เงินกาไหล่ทอง เงิน ทองแดง
ขนาด 
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๕ มิลลิเมตร
สร้าง 
พ.ศ. ๒๔๔๒

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๔๓ (ร.ศ.๑๑๙) เหรียญที่ ระลึก งานพระเมรุท้องสนามหลวง ๑๑๙

พ.ศ.๒๔๔๓ (ร.ศ.๑๑๙) เหรียญที่ ระลึก งานพระเมรุท้องสนามหลวง ๑๑๙

พ.ศ.๒๔๔๓ เหรียญที่ระลึก งานพระเมรุท้องสนามหลวง ๑๑๙

เหรียญนี้ สร้างขึ้นเมื่อ พศ ๒๔๔๓ เนื่องในงานพระเมรุพระบรมศพ และพระศพของเจ้านาย ๕ พระองค์ ซึ่งได้แก่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร , พระเจ้ามหัยยิกาเธอกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร , พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ , สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงค์ฤทธิ์ , และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ

ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ เหรียญกลม แบน
ด้านหน้า เป็นรูปฉัตร ๕ ชั้น และ ๓ ชั้น แทรกลายกนกใต้ฉัตร มีข้อความว่า “ งานพระเมรุท้องสนามหลวง ๑๑๙ ”
ด้านหลัง เป็นตราประจำพระองค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์จำนวน ๕ พระองค์ อยู่บนพื้นลายกนก ได้แก่

๑. ด้านซ้ายบน เป็นตราจุลมงกุฎ แซมขนนก ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามกุฎราชกุมาร ๒. ตรงกลางเป็นตราปราสาท ๓ ยอด ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ พระเจ้ามหัยยิกาเธอกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
๓. ด้านขวาบน เป็นตราพระชฎาครอบจักรมีปีก ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
๔. ด้านซ้ายล่าง เป็นตราพระมงกุฎครอบดวงอาทิตย์ เปล่งรัศมี ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงค์ฤทธิ์
๕. ด้านขวาล่าง เป็นตราชฎาครอบดอกไม้ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี

ชนิด เงินกะไหล่ทอง เงิน ทองแดงกะไหล่เงิน ทองแดง
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๔ มิลลิเมตร