Categories
หมวดเหรียญไทยที่ออกโดยชาวต่างชาติ

พ.ศ. ๒๒๒๙ เหรียญโกษาปาน

เหรียญที่ระลึกพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังแวร์ซายส์

นิรันดร วิศิษฎ์สิน

คำบรรยายภาพ: เหรียญที่ระลึกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) พ.ศ. ๒๒๒๙ แบบที่ผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

เหรียญที่ระลึก พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นเหรียญที่ฝรั่งเศสผลิตขึ้นเป็นที่ระลึก ในคราวที่ออก พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ที่เรียกขานกันทั่วไปว่า โกษาปาน ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ออกพระวิสุทธสุนทร ราชฑูตในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเจ้ากรุงสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ถวายพระราชสาส์นแด่ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ ในปี พ.ศ. ๒๒๒๙ เป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหรียญนี้มี ๓ แบบ กล่าวคือ

แบบแรกผลิตขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ เซนติเมตร

แบบที่ผลิตขึ้นย้อนยุคที่ผลิตขึ้นภายหลังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา อีก ๒ แบบคือ แบบ R ใหญ่ และ R เล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ เซนติเมตร

ข้อสังเกตุของเหรียญทั้ง ๓แบบนี้คือ ที่ขอบเหรียญที่ผลิตในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ไม่ได้ตอกตราหรือโค๊ด ทั้งนี้เนื่องจากโรงกระษาปณ์กรุงปารีสเริ่มตีตราที่ขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตราตำแหน่งผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์ มีทั้งหมด ๖แบบ ส่วนแบบ R เล็ก และ R ใหญ่ ตีตราแบบที่ ๖ มีชื่อว่า Cornucopia ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เหรียญแบบ R ใหญ่ ที่ทำย้อนยุค

เหรียญแบบ R เล็ก ที่ทำย้อนยุค

ด้านหน้า พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มีตัวอักษรภาษาละติน ความว่า

LUDOVICUS MAGNUS REX CHRISTIANISS เแปลว่าหลุยส์ มหาราชา ชาวคริสต์

LUDOVICUS เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง หลุยส์ ที่เป็นพระนามของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

MAGNUS คือ GREAT ในภาษาอังกฤษ แปลว่า มหาราช
REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระมหากษัตริย์
CHRISTIANISS เป็นชื่อเฉพาะ คือ CHRISTIAN ในภาษาอังกฤษ คือ ชาวคริสต์

ด้านหลัง ภาพพระยาโกษาธิบดี ( โกษาปาน ) ถวายพระราชสาส์นแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ ท้องพระโรงพระราชวังแวร์ซายส์ มีตัวอักษรภาษาละติน สองบรรทัด

ORATORES REGIS SIAM แปลว่า ราชฑูตแห่งพระราชากรุงสยาม
M DC LXXXVI ปี ค.ศ. ๑๖๘๖

ORATORES คือ ENVOY หรือ AMBASSADOR ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ราชฑูต

REGIS หรือ REX คือ KING ในภาษาอังกฤษ แปลว่า พระราชา หรือ พระมหากษัตริย์


SIAM เป็นชื่อเฉพาะ หมายถึง กรุงสยาม


M = ๑๐๐๐ DC =๖๐๐ LXXX = ๘๐ VI = ๖ หมายถึง ปีค.ศ. ๑๖๘๖ หรือ พ.ศ. ๒๒๒๙

ส่วนด้านบน มีตัวอักษรภาษาละตินความว่า

FAMA VIRTUTIS แปลว่า  เกียรติยศแห่งคุณความดี


FAMA คือ FAME ในภาษาอังกฤษ แปลว่า กิตติศัพท์ ชื่อเสียง เกียรติยศ

VIRTUTIS คือ EXCELLENCE หรือ VIRTUE ในภาษาอังกฤษแปลว่า คุณงามความดี


EXCELLENCY เป็นคำยกย่องผู้มีเกียรติยศสูง เช่น เอกอัครราชฑูต

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน )

พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้รับการยกย่องจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นอย่างมากดังที่ปรากฏความในพระราชสาส์นของพระองค์ยินดีมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชความว่า การที่พระเจ้ากรุงสยามทรงพระประสงค์ที่จะผูกไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสนี้ไม่มีสิ่งใดอาจช่วยให้สำเร็จได้สะดวกเท่ากับการที่พระองค์ทรงเลือกขุนนางไทยที่มีอัธยาศัยและความสามารถในราชการส่งมาปรึกษาการเมืองตรงต่อเราทีเดียว และราชกิจอันนี้ พระองค์ก็ได้ทรงกระทำสมใจเรานึกอยู่แล้ว อนึ่ง ว่าแต่การที่พระองค์ทรงเลือกสรรราชฑูตส่งมายังเราคราวนี้อย่างเดียว ก็เป็นพยานอ้างถึงพระปรีชาญาณอันสุขุมของพระองค์ดีกว่าคำกล่าวเล่าลือใดๆ รามาสังเกตุดูลักษณะมรรยาทแห่งราชฑูตของพระองค์นี้รู้สึกว่าเป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถ้วนถี่ดีมาก หากเราจะมิหยิบฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแผ่ความชอบแห่งราชฑูตของพระองค์บ้างก็จะเป็นการ อยุติธรรมไป เพราะราชฑูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ที่ถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไรแต่ละคำๆก็ดูน่าปลื้มใจและน่าเชื่อทุกคำฯ

นอกจากนี้ ท่านบาทหลวง เดอ ลา แชส ยังได้สรรเสริญพระยาโกษาธิบดี ( ปาน )ด้วย ดังความในสมณสาส์นมายังสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า เจ้าคุณ ( โกษาปาน )ได้ปฏิบัติตนอย่างเฉลียวฉลาดและสุภาพเรียบร้อยทุกประการ เป็นที่พอใจของชาวฝรั่งเศสทั่วไป นับตั้งแต่ชั้นพลเมืองจนถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่สุด อาตมาภาพได้เคยเห็นการต้อนรับราชฑูตของต่างประเทศมาแต่ก่อน ก็ ยังไม่เคยเห็นราชฑูตประเทศใดได้รับเกียรติยศเป็นพิเศษเท่ากับราชฑูตที่พระองค์ส่งมาเจริญทางพระราชไมตรีคราวนี้เลย ฯพระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ได้สร้างชื่อเสียงให้กับกรุงสยามเป็นอย่างมากทำให้ชาวฝรั่งเศสได้เห็นว่าเมืองไทยไม่ได้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแต่มีวัฒนธรรมสูงส่ง

คำในภาษาละตินที่ว่า FAMA VIRTUTIS นี้มีความหมายได้สองนัยกล่าวคือ ๑) ใช้ยกย่องเป็นเกียรติยศแด่พระยาโกษาธิบดี ( ปาน ) ราชฑูตกรุงสยามที่ได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ ตามหลักฐานที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ๒) ใช้ยกย่องพระเกียรติยศของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่มีพระเกีรติยศร่ำระบือไกลมาถึงกรุงสยาม

ด้านล่างของเหรียญยังมีตัวอักษรแสดงชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ

LI ที่ปราากฏบนเหรียญด้านหน้าใต้พระบรมรูปพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นตัวย่อของชื่อศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญที่ทำขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

R ที่ปรากฏใต้พระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔บนเหรียญที่ทำย้อนยุคนั้นแต่เดิมเข้าใจกันว่ามาจากคำว่า Restrike แต่เมื่อได้ทำการสอบค้นจากผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสแล้วได้ความว่าเป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญนามว่า Joseph ROETTIERS ( ๒๑๗๘ – ๒๒๔๖ ) เป็นชาวเฟล็มมิช คือ ชาวดัทช์ เกิดในตระกูลช่างทองและช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เคยรับราชการในโรงกระษาปณ์หลวงอังกฤษ ( The Royal Mint ) ต่อมาได้รับราชการในโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monniae De Paris ) แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าช่างทำแม่พิมพ์เหรียญในปี พ.ศ. ๒๒๒๕

ส่วนด้านหลัง มีตัวอักษร MAUGER F เป็นชื่อของศิลปินผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญคือ Jean MAUGER ชาวฝรั่งเศส เกิดประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๑ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น มีผลงานการทำแม่พิมพ์เหรียญสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มากมายได้รับการยกย่องว่าเป็นช่างทำแม่พิมพ์เหรียญประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ( Medailliste du Roi ) Jean MAUGER เสียชีวิตเมื่อ วันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๒๖๕ อายุ ๗๔ ปี

บรรณานุกรม
– ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๓ , ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๐ ,โกษาปานไปฝรั่งเศส ภาค ๔ , คุรุสภา , ๒๕๑๒
– สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร , ชุมนุมเรื่องน่ารู้ , กทม , ๒๕๐๘ – GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.

Categories
พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

พ.ศ.๒๔๐๗ เหรียญแต้เม้งทงป้อ เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของไทย

ในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญเฉลิมพระชันสา เป็นชนิดทองคำอย่างหนึ่ง เงินอย่างหนึ่ง มีน้ำหนัก ๔ บาท หรือ ๖๐ กรัมเท่ากับจำนวนพระชนมายุของพระองค์ เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึก และโปรดเกล้าฯ ให้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเนื่องจากเหรียญนี้มีอักษรจีนอยู่ด้านหลัง อ่นออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋วว่า “ แต้ เม้ง ทง ป้อ ” ซึ่งแปลว่าเงินตราของแต้เม้ง ซึ่งเป็นพระนามภาษาจีนของรัชกาลที่ ๔ ทำให้เหรียญนี้ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่าเหรียญแต้ เม้ง ซึ่งเหรียญนี้นับได้ว่า นอกจากจะเป็นทั้งเหรียญกษาปณ์ (คือมีราคาหน้าเหรียญ ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ) แล้วก็ยังถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกของไทยอีกด้วย นอกจากนี้เหรียญนี้ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ทรงโปรดฯ ให้มีพระบรมราชานุญาต นำไปใช้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้อีกด้วย

อนึ่ง พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เพิ่งเริ่มมีเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔ เนื่องด้วยผู้คนแต่เก่าก่อน มีคติความเชื่อว่าหากผู้ใดรู้วัน เดือน ปีเกิดของตนแล้ว อาจนำไปประกอบเวทมนต์ ไสยศาสตร์ต่างๆได้ ดังนั้นพระมหากษัตริย์ในยุคก่อนหน้านี้ จึงมิได้ให้ปรากฏว่าได้มีการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา แต่อย่างใด

เหรียญที่นำรูปมาลงให้ดูนี้เป็นชนิดเนื้อเงิน มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ และผิวออกสีเงินตามธรรมชาติ

ทางด้านหลัง มีอักษรจีนแสดงไว้ ๔ ทิศ มีลายแก้วชิงดวง และคำว่า “ กรุงสยาม ” อยู่ตรงกลาง

ภาพล่าง เมื่อนำมาเรียงเข้าชุด กับเหรียญกษาปณ์ชนิด ๒บาท ๑บาท ๒สลึง ๑สลึง ๑เฟื้อง และ ๒ไพ นับว่ามีความสวยงามเป็นอย่างมาก อันที่จริงแล้วเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ ๔ ชุดนี้ ถูกออกแบบได้อย่างงดงาม อ่อนช้อย และเรียงเป็นใบเถา ในยุคปัจจุบัน เหรียญกษาปณ์ชุดนี้ จัดเป็น World Class Collection ที่นักสะสมจากทั่วโลกนิยม และเสาะแสวงหา

พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว
ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ปีพ.ศ.๒๔๐๗ ซึ่งเป็นปีที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา
Categories
หมวดเหรียญไทยที่ออกโดยชาวต่างชาติ

พ.ศ. ๒๔๐๔ เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี

เหรียญที่ระลึก พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส ผลิตขึ้นโดยโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นที่ระลึก ในคราวที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี จางวางพระคลังภาษีสินค้าเป็นราชฑูตอัญเชิญพระราชสาส์น เครื่องมงคลราชบรรณาการ ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงสยามไปถวาย สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวังฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๔
ลักษณะเหรียญ กลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗.๓ ซม.
ชนิด ทอง เงิน ทองแดง
ด้านหน้า พระบรมรูปสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญทรงมงกุฎที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล ( Laurel Wreath ) เป็นต้นไม้ขนาดเล็กมีใบสีเขียวเข้มมีกลิ่นหอม ตำนานกรีกโบราณกล่าวว่าเทพอพอลโล ( APOLLO ) มีเรื่อง บาดหมางกับ EROS เทพแห่งความรัก ( รูปปั้นบรอนซ์ของเทพองค์นี้ตั้งอยู่ที่จตุรัสPICCADILLY CIRCUS กรุงLONDON ) EROS จึงแกล้งยิงเทพ APOLLO ด้วยศรทองทำให้ทรงปฏิพัทธ์หญิงสามัญชื่อ DAPHNE และยิง DAPHNE ด้วยศรเหล็ก ที่ทำให้เกิดความชังเทพ APOLLO แล้ว DAPHNE ก็หนีเทพ APOLLO ไปพึ่งเทวี GAIA ที่ทรงประทานพรให้ DAPHNE แปลงร่างเป็นต้นลอเร็ล ด้วยความอาลัยรัก เทพ APOLLO จึงนำใบของต้นลอเร็ลนี้มาทอเป็นพวงแล้วประดับบนพระเศียร สิ่งนี้ทำให้ชาวกรีกโบราณใช้ใบของต้นลอเร็ลมาประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยมอบให้นักรบที่ชนะศึกสงครามเป็นเกียรติ และยังใช้ประดับพระเศียรของพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพระมหามงกุฎอีกด้วย


เหรียญกระษาปณ์ทองคำ ชนิดสเตเตอร์ ของกรีกมาซีโดเนียสมัยพระเจ้าฟิลลิปส์ที่๒ พระราชบิดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ด้านหน้า เป็นรูปเทพอพอลโลสวมพวงมาลัยที่ทำด้วยใบของต้นลอเร็ล
เหรียญนี้มีตัวอักษรภาษาฝรั่งเศสล้อมรอบ ด้านซ้าย และ ขวา ดังนี้
NAPOLEON III EMPEREUR พระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓
ด้านล่าง ALPHEE DUBOIS นามช่างผู้ที่ทำแม่พิมพ์เหรียญ
ด้านหลัง ภาพ สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ พร้อมด้วยพระจักรพรรดินี ประทับบนพระที่นั่ง พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ณ ท้องพระโรงพระราชวังฟงแตนโบล รับคณะราชฑูตกรุงสยาม โดยพระยาศรีพิพัฒน์ อัญเชิญพระราชสาส์นสุพรรณบัฎ พร้อม ด้วยเครื่องมงคล ราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มาถวายแค่สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่ ๓ ด้านล่างเป็นตัวอักษรภาษาฝรั่งเศส บอกงาน จำนวน ๔ บรรทัด
RECEPTION DES AMBASSADEURS การรับรองราชฑูต
DES ROIS DE SIAM แห่งพระเจ้ากรุงสยาม
AU PALAIS DE FONTAINEBLEAU ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล
27 JUIN 1861 ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔

ที่ขอบเหรียญ มีตัวอักษร ALPHEE DUBOIS เป็นนามช่างผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( แพ บุนนาค ) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา
รายนามคณะฑูต ครั้งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ เป็นราชฑูต พ.ศ. ๒๔๐๔
๑) ราชฑูต พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) จางวางพระคลังภาษีสินค้า เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาในปี พ.ศ.๒๔๑๗
๒) อุปฑูต เจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ เป็นหลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
๓) ตรีฑูต พระณรงค์วิชิต เจ้ากรมตำรวจนอกขวา เป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ เจ้าพนักงานผู้กำกับเครื่องราชบรรณาการ
๔) นายสรรพวิไชย นายยามนายมหาดเล็กเวรเดช น้องร่วมบิดามารดากับพระยาศรีพิพัฒน์
๕) หลวงอินทรมนตรี เจ้ากรมสรรพากรนอก
๖) ขุนมหาสิทธิ์โวหาร ปลัดกรมพระอาลักษณ์
๗) หมื่นจักรวิจิตร์ กรมแสงใน
๘) นายสมบุญ บุตรพระยาศรีพิพัฒน์ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๙) นายหวาด บุตรพระยาอภัยสงคราม ผู้เป็นอาว์ของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
๑๐) นายชาย บุตรเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (ญาติของฑูตานุฑูต)
นอกจากนี้ยังมีผู้น้อยไพร่ เป็นล่าม เสมียนและคนใช้อื่นอีกรวมเป็น ๒๗ คน

จิตรกรผู้ทำแม่พิมพ์เหรียญ ( Medallist ) ชื่อ Mr. Alphee DUBOIS ชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๓๗๔ เป็นบุตรของ Joseph Eugene DUBOIS ช่างทำแม่พิมพ์เหรียญ เป็นศิษย์ของ J J BARRE และ DURET ได้รับรางวัล PRIX DU ROME ในปีพ.ศ.๒๓๙๘ และเหรียญรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย Alph?e DUBOIS เป็นจิตรกรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้นมีผลงานชิ้นเยี่ยมมากมาย เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นอันดับหนึ่งในบรรดาศิลปินชั้นนำในสาขาการทำแม่พิมพ์เหรียญ ผลงานของ Alphee DUBOIS ได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการขึ้นมาใหม่ ( Present Renaissance) บุตรชายของ Alph?e DUBOIS ชื่อ Henry DUBOIS ก็เป็นจิตกรปั้นแบบเหรียญที่มีชื่อเสียงด้วย ตระกูล DUBOIS นี้ได้เป็นนักปั้นแบบเหรียญถึง ๓ ชั่วคน ผลงานทำแม่พิมพ์เหรียญราชฑูตนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยม ( Masterpiece ) ของ Alph?e DUBOIS ได้เลยทีเดียวโปรดสังเกตุฝีมือการทำรูปด้านหน้าและองค์ประกอบของเหรียญด้านหลัง Alph?e DUBOIS เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๔๘ อายุ ๗๔ ปี

ด้านข้างของเหรียญมีตัวอักษรบอกเนื้อโลหะที่ทำเหรียญ และประทับตราผู้บัญชาการโรงกระษาปณ์กรุงปารีส ( Monnaie De Paris ) เป็นตราผึ้ง ( ผึ้ง ในภาษาฝรั่งเศสคือ Abeille และ CUIVRE แปลว่าทองแดง ) ตราหรือโค้ดนี้ใช้ประทับในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๐๓ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๔๒๒ แสดงว่าเหรียญนี้ผลิตขึ้นในช่วงเวลาที่ราชฑูตเข้าถวายพระ ราชสาส์นคือวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔ หรือ หลังจากนั้นไม่นาน ดังปรากฎความในพระราชสาส์นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ความว่า ทรงได้รับเหรียญทอง เงิน และทองแดงที่ระลึกในการนี้จากสมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๐๕ เป็นเวลาเพียง ๗ เดือนเศษหลังจากที่พระยาศรีพิพัฒน์เข้าถวายพระราชสาส์น และยังได้ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.๒๔๐๗ อีกด้วย

ขอบเหรียญที่ตีตรา ผึ้ง ABEILLE

ขอบเหรียญที่ตีตรา CORNUCOPIA
นอกจากนี้โรงกษาปณ์ กรุงปารีส ได้ผลิตเหรียญนี้ย้อนยุคขึ้นอีกด้วย โดยพบว่าที่ขอบเหรียญประทับตรา Cornucopia หรือ Horn Of Abundance ที่เริ่มใช้ประทับขอบเหรียญมาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ มาถึงปัจจุบัน

ตรา Cornucopia เป็นเครื่องหมายมงคลของกรีกโบราณ มีรูปเป็นเขาแพะที่โคนเขามีผลไม้ และ ดอกไม้ไหลออกมาให้บริโภคได้ตลอดเวลาไม่มีวันหมด ตำนานกล่าวว่า เทวี อมาลธีอา ( AMALTHEA ) มีเพศเป็นแพะเป็นแม่นมของมหาเทพซูส ( ZEUS) ในวัยเยาว์ พระมหาเทพซูสอยู่ในวัยซุกซนได้หักเขาของเทวีอมาลธีอาโดยบังเอิญ ทำให้พระเทวีกลายเป็นยูนิคอร์น ส่วนเขาที่หักไปนั้นได้รับอาณุภาพวิเศษ ที่อำนวยพรให้ผู้ที่เป็นเจ้าของอธิษฐานสิ่งใดก็จะได้สมปรารถนา

รูปหินอ่อนแกะสลักเป็นรูปมหาเทพซูสเอนพระวรกาย ถือ CORNUCOPIA ณ PIAZZA CAMPIDOGLIO, KAPITOL กรุง ROME (ภาพจาก GOOGLE EARTH)
เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปครั้งนั้น อันประกอบด้วย

พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง

พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ

พระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชยาน เครื่องสูงประกอบพระราชอิสริยยศ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ณ พระราชวังฟงแตนโบล ส่วนพระราชสาส์นสุพรรณบัฏ ปิดแผ่นกระดาษประทับตราพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการองค์น้อย ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เก็บรักษาไว้ที่ กองจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส
พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องราชบรรณาการ พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ
ฝรั่งเศสได้ทำภาพสีน้ำมันบันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้สองภาพ ภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานพระราชวังฟงแตนโบล เมืองฟงแตนโบล ทางใต้ของกรุงปารีส ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ภาพนี้มีองค์ประกอบเหมือนกับเหรียญที่ระลึกคราวนี้ ส่วนอีกภาพหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่ผนังด้านซ้ายมือหรือด้านตะวันออกของพระที่นั่งพุดตานถมตะทอง คือ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ที่ท้องพระโรงกลางของในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง คู่กับภาพ พระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ พระราชวังวินด์เซอร์ กรุงลอนดอนในปี พ.ศ. ๒๔๐๐

ภาพถ่ายท้องพระโรงกลางในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประดิษฐานพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ที่ผนังด้านตะวันออกคือด้านซ้ายมือของภาพนี้ติดภาพสีขนาดใหญ่สองภาพคือ ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ถัดมาเป็นภาพสีพระยาศรีพิพัฒน์ถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ( ไม่เห็นในภาพถ่ายนี้ )

ภาพพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และคณะราชฑูตกรุงสยามเข้าเฝ้าอัญเชิญ พระราชสาส์นพระสุพรรณบัฏของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพานทองพร้อมด้วยเครื่องมงคลราชบรรณาการ และ เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ถวายแด่สมเด็จพระจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ กรุงฝรั่งเศส ณ พระราชวัง ฟงแตนโบล เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ โปรดสังเกตุพระมหาพิชัยมงกุฎทางด้านขวาของภาพพร้อมด้วยพระราชยาน พระที่นั่ง เครื่องสูงและพระกลด ที่ใช้ประกอบพระราชอิสริยยศยังจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ฟงแตนโบล

ภาพพระยามนตรีสุริยวงศ์ฯ ถวายพระราชสาส์นแด่ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในปีพ.ศ. ๒๔๐๐
บรรณานุกรม
– พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมครั้งที่ ๖ ,อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้า วงศานุวัตร เทวกุล , ๒๕ เมษายน ๒๕๓๔
– แม้นมาส ชวลิต , พระราชสาส์น ร.๔ บนแผ่นทอง , แถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสารโบราณคดี ( ป อ บ ) ปีที่ ๙ เล่ม ๑ – ๓ , มกราคม – ธันวาคม ๒๕๑๘
– สมมติอมรพันธุ์ , พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ, เรื่องตั้งเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์ , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวง ชูชาติ กำภู , ๑๖ ธ.ค. ๒๕๑๒
– สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , พระราชลัญจกร , กทม , ๒๕๓๘
– หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ , พระมหาปราสาท และ พระราชมณเฑียรสถาน ในพระบรมมหาราชวัง , อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเฉื่อย ทวีวงศ์ ณ อยุธยา, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๗
– Chateau De Fontainebleau , Le Musee Chinois De L’imperatrice Eugenie ,Paris,1994.
– GORNY & MOSCH , Auktion No. 146 , 6 Marz 2006.
– Leonard FORRER, Biographical Dictionary of Medallists III B.C. 500 – A.D. 1900 Vol I and Vol, SPINK & Sons, LONDON, 1904 and 1907.
– Wikipedia , the free encyclopedia.
– Google Earth

Categories
พ.ศ.๒๔๐๘ เครื่องราชฯ คารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ณ ฟองแตนโบล เหรียญในรัชกาลที่ 4

พ.ศ.๒๔๐๘ เครื่องราชฯ ดารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ณ ฟองแตนโบล

เรืออากาศเอก นิรันดร วิศิษฎ์สิน


คำนำ


ในพิพิธภัณฑสถาน พระราชวัง ฟองแตนโบล มี เครื่องราชบรรณการ ที่รัชกาลที่ ๔ส่งไปเจริญพระราชไมตรี แด่ สมเด็จพระจักรพรรดิที่นโปเลียน ที่ ๓ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๐๔ถึง ๒๔๐๘ จัดแสดงอยู่ ในกลุ่มนี้ มีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่น่าสนใจมาก เป็นองค์เดียวในโลกอยู่สองสิ่ง องค์หนึ่ง เป็นดวงดารา ตรงกลางเหมือนดารานพรัตน์ สมัยรัชกาลที่ ๔ ต่างกันที่ ช่องระหว่างแฉกทั้งแปดจำหลักเป็นกลีบซ้อนขึ้นมาเป็นรูปดวงดอกไม้ ฝังเพชรจำนวนมากทำให้มีขนาดเขื่องกว่า อีกองค์หนึ่งเป็นดวงตราห้อยสายสะพาย ด้านหนึ่งเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ครึ่งพระองค์ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปช้างทรงเครื่อง ไม่ปรากฏมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่เหมือนกันนี้อยู่ในกรุงสยามเลย นับได้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากดังกล่าวแล้วข้างต้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือทั้งสององค์นี้ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยในสมัยต่อมา อีกประการหนึ่งในระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา มีเพียงชาวไทยไม่กี่ท่านที่ได้เคยเห็นด้วยอยู่ห่างไกลบ้านเมืองอันเป็นถิ่นกำเนิด ถึงแม้จะได้ไปฝรั่งเศส ก็อยู่เพียงกรุงปารีสหาได้ไปถึงฟองแตนโบลไม่อย่างไรก็ตาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงกล่าวถึงในตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม และได้ทรงฉายภาพไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ภาพนั้นยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนเลย และ ปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากที่จะได้บันทึกภาพที่สำคัญนี้มานำเสนอได้

 ดารานพรัตน์ ณ ฟองแตงโบล กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓ ( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4  ณ ฟองแตงโบล (ด้านหน้า)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓
( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4  ณ ฟองแตงโบล (ด้านหลัง)
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฉายเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๗๓
( ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

ด้วยติดขัดทางด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด ต้องใช้ความพยายามทั้งเวลาและหาช่องทางอยู่เป็นเวลานานทั้งต้องเดินทางเทียวไปเทียวมาอยู่หลายครั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นจำนวนมาก กว่าจะได้มา ถึงอย่างไรก็ตาม ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้นำภาพถ่ายสำคัญนี้พร้อมด้วยเรื่องราวประวัติความเป็นมา เพื่อนำเสนอเป็นบรรณาการแด่ท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ถึง ๒๔๐๘ สถานการณ์ในสยามประเทศอยู่ในสภาวะล่อแหลม ด้วย มหาอำนาจใน ยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะ อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพล เข้าครอบครอง อินเดีย พม่า มลายู อันนัมเวียตนาม อีก ทั้งจีนซึ่งเป็นมหาประเทศ ที่มีอิทธิพลสูงมาแต่โบราณ ยังต้องยอมสยบ มหาอำนาจยุโรป นี้ แต่โดยดี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินวิเทโศบาย อย่างชาญฉลาด โดยส่ง พระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) และ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( แพ บุนนาค)

ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ไปเจริญพระราชไมตรี กับ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งจักรวรรดิบริตตาเนีย อังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ และสมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ แห่งกรุงฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตามลำดับ เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรี สร้างเสริมความเข้าใจอันดี กับ ผู้นำและพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ

พร้อมทั้งแสดงความเต็มใจของชาวสยามที่จะติดต่อค้าขาย และ ผูกมิตรกับชนชาติเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ทางธรรมทรงผูกใจชาวยุโรปโดยทรงให้คำมั่นกับ สมเด็จพระสันตะปาปา ปิอุสที่ ๙ พระประมุขแห่งสกลคริสตจักร ณ นครรัฐวาติกัน ด้วยว่าชาวคริสเตียน ผู้นับถือศาสนาคาธอลิค จะได้รับความคุ้มครองเยี่ยงเดียวกับชาวพุทธในกรุงสยาม

ทั้งยังให้เสรีภาพ ทางศาสนากับชาวต่างชาติด้วย นับเป็นการดำเนินวิเทโศบายอย่างชาญฉลาดเข้าถึงจิตใจชาวตะวันตกโดยใช้มิตรภาพ และน้ำใจอันใสสะอาดของชนชาวไทย มาช่วยให้ประเทศชาติพ้นภัย รอดจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก รักษาเสรีภาพไว้ได้ เป็นเพียงชาติเดียวในภูมิภาคนี้

พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี และ คณะฑูต ถวายพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการ แด่ จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟองแตนโบล

ในคราวที่ พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ( ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา ) จางวางพระคลังสินค้า รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการไปเจริญพระราชไมตรี แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียนที่ ๓ ณ พระราชวังฟองแตนโบล วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๐๔ นั้น

นอกจากประสบความสำเร็จเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิ นโปเลียน ที่ ๓ ยังได้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลิจอง ดอนเนอร์ ( LEGION D’HONNEUR ) ชั้น กรองครัว ( GRAND CROIX เป็นภาษาอังกฤษ “แกรนด์ครอส” GRAND CROSS) อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศสูงสุดของฝรั่งเศส ทรงยินดีมาถวาย พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๐๖ ( ลางฉบับว่า ๖ พฤษภาคม ๒๔๐๖ ในที่นี้ใช้วันที่ ตามที่ปรากฏใน พระราชสาส์นฉบับที่ ๑๘ )

นับเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศอย่างสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นพระมหากษัตริย์ เพียงพระองค์เดียว ของเอเชียในขณะนั้นที่ได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศสูงสุดตระกูลนี้ โปรดฯให้ยิงสลุต ๒๑ นัด เชิญมาบนพานทองสองชั้น จัดขบวนแห่แหน อย่างสมพระเกียรติยศ ทรงประดับ ดวงตราสายสพาย และ ดาราเป็นเกียรติ แก่คณะราชทูตฝรั่งเศส พร้อมเลี้ยงฉลอง มีประโคม ดนตรี มโหรี เป็นเกียรติ อีกด้วย

อนึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลิจอง ดอนเนอร์ นี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปหลายครั้ง มาตลอดจนถึงรุ่นปัจจุบัน พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ จำลองที่สร้างขึ้นภายหลังจึงมีรูปตราลิจอง ดอนเนอร์อันคลาดเคลื่อนอยู่ รุ่นที่ทรงได้รับมานี้ เป็นรุ่นที่อยู่ในยุค จักรวรรดิที่สอง (SECOND EMPIRE) มีลักษณะดังนี้

.

ดวงตรา ลิจอง, ตอนเนอร์ รุ่นที่ทรงยินดีมายังรัชกาลที่ ๔

ดวงตราด้านหน้า ทำด้วยทองคำ ตรงกลางเป็นพระรูปจักรพรรดินโปเลียน หันพระพักตร์ ทางด้านขวา ล้อมด้วยวงกลม ลงยาสีขาบ คือ สีน้ำเงินเข้มมีตัวอักษรลาตินสีทอง NAPOLEON EMP DES FRANCAIS คือ นโปเลียน จักรพรรดิ แห่ง ฝรั่งเศส มีดาว ๕ แฉก เรียงกันด้านล่าง ๓ ดวง ล้อมรอบวงด้วยรัศมีลงยาสีขาว รูปห้าเหลี่ยม มุมบนย่อลง ๕ แฉก ปลายแฉกมีปุ่มกลม แฉกละ ๒ ปุ่ม

ระหว่างแฉกทั้ง ๕ มีใบไม้ทองลงยาสีเขียว ด้านบน มีหู ๒ แฉกลงยาสีแดง เชื่อมกับ มงกุฏ ที่ฐานลงยาสีเขียวน้ำเงินแดง สลับกัน ที่กลีบมงกุฎ ๕ กลีบ ทำเป็นรูปใบไม้มีนกอินทรีกางปีกยืนเกาะมัดหวายกับสายฟ้า รอยฉลุระหว่างกลีบมงกุฎลงยาสีแดง บนยอดมงกุฎมีปุ่มกลม บนปุ่มมีกากบาท ( ชั้นกรองครัวซ์ ไม่มีกากบาท ) ตัวปุ่มมีรูแขวนห่วงกลมสำหรับห้อย สายสพายสีแดง สพายบ่าขวาเฉียงลงเอวซ้าย


ดวงตราด้านหลัง ตรงกลาง เป็นรูปนกอินทรีกางปีกยืนบนมัดหวาย และ สายฟ้า ล้อมรอบ ด้วย วงกลมยาสีขาบ มีตัวอักษรลาตินสีทอง HONNEUR ET PATRIE คือ เกียรติยศ แด่ผู้รักชาติ มีดาว ๕ แฉก เรียงกันด้านล่าง ๓ ดวง มีแฉกล้อมรอบ และ มงกุฎ เหมือนกันกับด้านหน้า


ดารา ทำด้วยเงิน (ดาราของจักรพรรดินโปเลียน ที่๓ ทำด้วยทองคำ) ตรงกลางเป็นรูป นกอินทรี กางปีก จับมัดหวาย และ สายฟ้า มีวงกลมล้อมรอบ มีตัวอักษรลาติน HONNEUR ET PATRIE . ด้านล่างเป็นช่อดอกไม้ ล้อมรอบด้วย แฉกรูป ๕ เหลี่ยมมุมบนย่อลง ปลายแฉกเป็นปุ่มกลมแฉกละ ๒ ปุ่ม ทำเป็นเพชรสร่งทั้ง ๕ แฉก ระหว่างแฉกรัศมีปลายมน แฉกละ ๕ เส้น ด้านหลังมีเข็มกลัดสำหรับติดหน้าอกเสื้อด้านซ้าย

เพื่อเป็นการตอบแทน จึงโปรด ฯ ให้ช่างทองหลวง ทำดารา และดวงตราขึ้น ดังปรากฏในพระราชสาส์นที่ส่งไปถวาย จักรพรรดินโปเลียน ที่ ๓ ลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๐๗ ความตอนหนึ่งว่า

“ บัดนี้กรุงสยามมีความประสงค์จะใคร่ทำความที่กรุงสยามคิดถึง พระเดชพระคุณ กรุงฝรั่งเศสนั้นให้แจ้งชัด จึงได้คิดให้ช่างทองชาวสยามทำรูปดวงดาวฤาดอกไม้ ด้วยทองคำประดับเพชรเป็นใจกลาง
มีพลอยสีต่างกำเนิดอยู่ทั้งแปดด้าน แล้วมีเพชรเป็นอันมากประดับเป็นบริวารแวดล้อมดังรัศมี อีกกับ ดวงดาวทองคำลงยาราชาวดี มีห่วงห้อย เป็นรูปสำคัญนามของกรุสยาม ฯ ”


ดาราและดวงตรานี้ยังเก็บรักษา และ จัดแสดงไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานพระราชวังฟองแตนโบล อยู่ถึงปัจจุบันนี้

ในคราวที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ พิพิธภัณฑ์ พระราชวังฟองแตนโบล เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็น ได้ทรงพบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ทำขึ้นพิเศษไม่เหมือนที่มีอยู่ ดวงหนึ่ง เป็นดารานพรัตน์ สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่มีขนาดเขื่องกว่า อีกดวงหนึ่ง เป็นดวงตราแขวนสายสพาย

ด้านหนึ่ง จำหลักเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ครั้งนั้นทรงได้ถ่ายภาพเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญนี้มาด้วย ปัจจุบันรักษาอยู่ที่หอจดหมายแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ภาพนี้ยังไม่ได้ลงพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารสิ่งพิมพ์ใดมาก่อน ภาพถ่ายนี้ได้นำเสนอไว้แล้วในตอนต้น มีลักษณะดังนี้

ดารานพรัตน์ รัชกาลที่ ๔

ดารานพรัตน์ ณ ฟองแตนโบล

ดวงตราพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 และดารานพรัตน์  ณ ฟองแตงโบล

ดวงตรา ด้านหน้า พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ครึ่งพระองค์ ทรงหมวกสก๊อต หันพระพักตร์ด้านซ้าย ล้อมรอบด้วยช่อดอกไม้ อยู่ในวงกลม ล้อมรอบด้วย รัศมีรูป ๕ เหลี่ยมมุมบนย่อลง๕ แฉก มีลายกนกลงยาสีน้ำเงินและเขียว แฉกละ๒ ด้าน พื้นลงยาสีแดง ระหว่างแฉกเป็นรูปใบไม้ลงยาสีแดงสลับเขียวทั้ง๕ แฉก ด้านบนเป็นใบไม้ลงยาสีเขียวเชื่อมกับพระมหามงกุฎ มีหูเป็นรูปศรีวัตสะ เหนือพระมหามงกุฎ มีห่วงด้านบนสุด สำหรับห้อยสายสพาย ด้านหลัง เหมือนด้านหน้าแต่ตรงกลางเป็นรูปช้างทรงเครื่อง

ดาราและดวงตรานี้ ทำขึ้นเพียงชุดเดียว ไม่มีพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายประกอบ หรือ มีธรรมเนียมมาแต่โบราณ เป็นของที่ทรงมีพระราชดำริให้ทำขึ้นมาใหม่ นับได้ว่าเป็นครั้งเดียวที่ปรากฏ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ บนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เป็นของสำคัญที่หาดูได้ยากยิ่ง ครั้นต่อมาทรงสร้าง ดาราช้างเผือกขึ้น มีรูปช้างเผือก มงกุฎ และ เครื่องสูงลงยาราชาวดีฝังเพชรพลอย ส่งไปถวาย จักรพรรดินโปเลียน ที่ ๓ เป็นสำรับเข้ากับดวงตราพระบรมรูป กับ ช้างทรงเครื่องที่ส่งไปแล้วนั้น ตามความในพระราชสาส์น ฉบับที่ ๑๙ ที่ส่งไป เมื่อ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๐๘

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ นับได้ว่าเป็นชุดแรก ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นกำเนิดของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยในสมัยต่อมา โดย ดารานพรัตน์ เป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และ ดวงตราพระบรมรูป กับช้างทรงเครื่อง เป็นต้นกำเนิดของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก

ภาพดารานพรัตน์ และ ดวงตราพระบรมรูปกับช้างทรงเครื่องนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อ จาก AGENCE PHOTOGRAPHIQUE REUNION DES MUSEES NATIONAUX กรุงปารีส โดย MADAM HERVELENE POUSSE จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ อนึ่งภาพประกอบนี้ สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

บรรณานุกรมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , พระราชหัตถเลขาด้านการต่างประเทศ , อนุสรณ์
หม่อมเจ้า วงศานุวัตร เทวกุล , กรุงเทพ ฯ , ๒๕ เมษายน ๒๕๓๔ .
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , เสด็จยุโรปครั้งที่ ๒ , คุรุสภา , ๒๕๐๔
“——————-” ,ตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สยาม , กรุงเทพ ฯ , ๒๔๖๘
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมติอมรพันธุ์ , เรื่องตั้งเจ้าพระยา กรุงรัตนโกสินทร์ ,
พิมพ์ครั้งที่สาม , กรุงเทพ ฯ , ๒๕๑๒
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี , เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย , กรุงเทพ ฯ , ๑๒ สิงหาคม๒๕๓๕
CHATEAU DE FONTAINEBLEAU , LE MUSEE CHINOIS DE L’IMPERATRICE
EUGENE , PARIS , 1994 .

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๑๔ (จ.ศ.๑๒๓๓) เหรียญหลักแจว เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่ตีพิมพ์พระบรมรูปของกษัตริย์ไทย

พ.ศ.๒๔๑๔ (จ.ศ.๑๒๓๓) เหรียญหลักแจว เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่ตีพิมพ์พระบรมรูปของกษัตริย์ไทย

 พ.ศ.๒๔๑๔ (จ.ศ.๑๒๓๓) เหรียญหลักแจว เหรียญที่ระลึกเหรียญแรกที่ตีพิมพ์พระบรมรูปของกษัตริย์ไทย

เป็นคติความเชื่อของมนุษย์ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่า การจำลองรูปภาพของตนลงบนสิ่งใดก็ตาม จะเป็นการบั่นทอนชีวิตของผู้นั้น คตินี้ยังคงเชื่อกันอยู่ในสังคมของผู้เฒ่าผู้แก่ของเราในรอบร้อยปีที่แล้วว่า การฉายรูปจะมีผลทำให้ทำอายุสั้น


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในพระราชกิจทั้งปวง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อัจฉริยะโดยแท้ รัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เรียกได้ว่า “เป็นยุคของการปฏิรูป ( Age of Reform ) หรือยุคของการทำประเทศให้ทันสมัย ( Age of Modernization ) อย่างแท้จริง”

พระองค์ทรงสลัดคติความเชื่อถือเก่าแก่นี้อย่างสิ้นเชิง หลังจากได้ทรงริเริ่มโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกพระปรมาภิไธยย่อ “ส.พ.ป.ม.จ. ๕” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ อันเป็นปีที่ ๒ ของการเสวยราชย์ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกแล้วนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔

คราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๑๘ พรรษาอันเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หมอบรัดเล ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๔ ความว่า “เฉลิมพระชันษา ๑๘ ตามประทีป และมีมหรสพเป็นการใหญ่” ในคราวนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นอีกเป็นเหรียญที่ ๒ ครั้งนี้ได้ปรากฏพระบรมรูปของพระองค์ท่านเป็นครั้งแรกในประวัติของการสร้างเหรียญที่สมบูรณ์แบบในปีนั้น

อันจะเป็นผลให้ประเทศไทยได้มีเหรียญกษาปณ์ตีพิมพ์พระบรมรูปบนด้านหน้าของเหรียญขึ้นเป็นครั้งแรกในอีก ๕ ปีถัดมา คือเหรียญตราพระบรมรูปในปี พ.ศ ๒๔๑๙

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่

เหรียญหลักแจวเนื้อทองแดง จัดเป็นเหรียญรัชกาลที่๕ที่พบเห็นได้ยากมาก และของปลอมทำได้ใกล้เคียงมาก จึงควรพิจารณาเลือกเหรียญที่ดูง่ายเท่านั้น
พระบรมฉายาลักษณ์ที่ใช้เป็นแบบแกะเหรียญหลักแจว สันนิษฐานว่ารูปนี้น่าจะทรงฉายตอนที่พระชนมายุประมาณ ๑๗ ถึง ๑๘ พรรษา

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักต์ทางด้านซ้ายของเหรียญ เส้นพระเจ้า “ทรงมหาดไทย” หรือ “ทรงหลักแจว” ทรงฉลองพระองค์เสื้อยันต์ และทรงเคร่องราชอิสริยาภรณ์ รอบขอบเหรียญมีตัวอักษรว่า “สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์บดินทร เทพยมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยามที่๕”
ด้านหลัง : มีตัวอักษรรอบวงในเหรียญว่า “การเฉลิมพระชนม์พรรษาปีมแมตรีศก ๓ จุลศักราช ๑๒๓๓ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตจุบันนี้”
ชนิด : ทองคำ เงิน ทองแดง ดีบุก(เหรียญต้นแบบ และเหรียญลองพิมพ์)
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 53 มิลลิเมตร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๑๔ (จ.ศ.๑๒๓๓) เหรียญหลักแจว ต้นแบบ เนื้อดีบุก คันพบเพียงสองเหรียญเท่านั้น!

พ.ศ.๒๔๑๔ (จ.ศ.๑๒๓๓) เหรียญหลักแจว ต้นแบบ เนื้อดีบุก คันพบเพียงสองเหรียญเท่านั้น!

เป็นคติความเชื่อของมนุษย์ตั้งแต่โบราณมาแล้วว่า การจำลองรูปภาพของตนลงบนสิ่งใดก็ตาม จะเป็นการบั่นทอนชีวิตของผู้นั้น คตินี้ยังคงเชื่อกันอยู่ในสังคมของผู้เฒ่าผู้แก่ของเราในรอบร้อยปีที่แล้วว่า การฉายรูปจะมีผลทำให้ทำอายุสั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถในพระราชกิจทั้งปวง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อัจฉริยะโดยแท้ รัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ (พ.ศ. ๒๔๑๑ – ๒๔๕๓) เรียกได้ว่า “เป็นยุคของการปฏิรูป ( Age of Reform ) หรือยุคของการทำประเทศให้ทันสมัย ( Age of Modernization ) อย่างแท้จริง”

พระองค์ทรงสลัดคติความเชื่อถือเก่าแก่นี้อย่างสิ้นเชิง หลังจากได้ทรงริเริ่มโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกพระปรมาภิไธยย่อ “ส.พ.ป.ม.จ. ๕” เพื่อเป็นพระราชอนุสรณ์แห่งการเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ อันเป็นปีที่ ๒ ของการเสวยราชย์ซึ่งถือว่าเป็นเหรียญที่ระลึกเหรียญแรกแล้วนั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔

คราวงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๑๘ พรรษาอันเป็นงานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หมอบรัดเล ได้บันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๔ ความว่า “เฉลิมพระชันษา ๑๘ ตามประทีป และมีมหรสพเป็นการใหญ่” ในคราวนี้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นอีกเป็นเหรียญที่ ๒ ครั้งนี้ได้ปรากฏพระบรมรูปของพระองค์ท่านเป็นครั้งแรกในประวัติของการสร้างเหรียญที่สมบูรณ์แบบในปีนั้น อันจะเป็นผลให้ประเทศไทยได้มีเหรียญกษาปณ์ตีพิมพ์พระบรมรูปบนด้านหน้าของเหรียญขึ้นเป็นครั้งแรกในอีก ๕ ปีถัดมา คือเหรียญตราพระบรมรูปในปี พ.ศ ๒๔๑๙

เหรียญที่นำมาลงให้ดูนี้เป็นเหรียญต้นแบบเนื้อดีบุก มีความแตกต่างจากเหรียญทั่วไปตรงที่ด้านหลังของเหรียญไม่มีคำว่า “การเฉลิมพระชนม์พรรษาปีมแมตรีศก๓ จุลศักราช๑๒๓๓ เปนปีที่๓ ในรัชกาลปัตจุบันนี้” สันนิษฐานว่าเป็นการสั่งทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯเสนอให้ทรงพิจารณา และเมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆแล้ว จึงผลิตขึ้นเพื่อพระราชทานในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา

ด้านหน้า : มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักต์ทางด้านซ้ายของเหรียญ เส้นพระเจ้า “ทรงมหาดไทย” หรือ “ทรงหลักแจว” ทรงฉลองพระองค์เสื้อยันต์ และทรงเคร่องราชอิสริยาภรณ์ รอบขอบเหรียญมีตัวอักษรว่า “สมเด็จพระปรมินทร มหาจุฬาลงกรณ์บดินทร เทพยมหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยามที่๕”

ด้านหลัง : มีตัวอักษรรอบวงในเหรียญว่า “การเฉลิมพระชนม์พรรษาปีีมแมตรีีศก ๓ จุลศักราช ๑๒๓๓ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัตจุบันนี้”

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ

ชนิด : ดีบุก(เหรียญต้นแบบ)

ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 53 มิลลิเมตร

อนึ่งเหรียญชนิดนี้ที่เป็นเนื้อดีบุก และมีคำจารึกด้านหลังด้วย ก็ถูกพบเห็นบ้าง แต่รายละเอียดการขึ้นรูปมักจะไม่สู้ชัดเจนนัก
สันนิษฐานว่าเป็นเหรียญที่ใช้ทดลองปรับตั้งแม่พิมพ์ก่อนการผลิตจริง

พระบรมฉายาลักษณ์ที่ใช้เป็นแบบแกะเหรียญหลักแจว สันนิษฐานว่ารูปนี้น่าจะทรงฉายตอนที่พระชนมายุประมาณ ๑๗ ถึง ๑๘ พรรษา

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๑๖ (จ.ศ.๑๒๓๕) เหรียญที่ระลึกพระราซพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่๒

พ.ศ.๒๔๑๖ (จ.ศ.๑๒๓๕) เหรียญที่ระลึกพระราซพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่๒

พ.ศ.๒๔๑๖ (จ.ศ.๑๒๓๕) เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒

เนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเศก อย่างเป็นทางการเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ มีพระชน มายุ ครบ 20 พรรษา งานพระราชพิธีนี้จัดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พศ 2416 เหรียญที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ ด้านหน้ามีพระปรมาภิไธยย่อ “จจจ” ส่วนด้านหลังเป็นตราแผ่นดิน ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าเป็นวาระที่พระองค์ทรงขึ้นปกครองแผ่นดินอย่างเป็นทางการ ตัวเหรียญมีขนาด 66 มม มีชนิดเนื้อเงิน และทองแดงในรูปที่เห็นเป็นเนื้อเงินครับ ด้านหน้าเป็นพระปรมาภิไธยย่อ “จจจ” เหรียญนี้นักสะสมจึงเรียกว่าเหรียญ จจจ

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ด้านล่างของตราอาร์มแผ่นดิน มีคาถาซึ่งผูกโดยสมเด็จพระสังฆราช (สา) ซึ่งแปลว่า “ความพร้อมเพรียงของชนผู้เป็นหมู่ ยังความเจริญให้สำเร็จ” อนึ่ง ตราอาร์มแผ่นดินนี้ ก็คือแบบเดียวกันกับที่อยู่หลังเหรียญหนึ่งบาท ในรัชสมัยของพระองค์ท่าน

ตัวอย่างเหรียญเพิ่มใหม่

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
ภาพถ่ายระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเศกครั้งที่ ๒ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปีระกา พศ ๒๔๑๖
ร.๕ ทรงพระเครื่องต้นพระมหาพิชัยมงกุฎ

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : เป็นพระปรมาภิไธยย่อ “จจจ” อยู่ในวงกรอบ นอกวงกรอบมีข้อความว่า “การบรมราชภิเศก” ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีรกาเบญจศกศักราช ๑๒๓๕”
ด้านหลัง : เป็นตราแผ่นดิน
ชนิด : เงิน ทองแดง
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 66 มิลลิเมตร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท

พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท

พ.ศ.๒๔๑๙ (จ.ศ.๑๒๓๘) เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน

เหรียญที่ระลึก พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท และพระที่นั่งวโรภาษพิมาน พศ๒๔๑๙ ทรงพระราชทานเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองพระที่นั่งทั้งสองแห่ง


เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พศ๒๔๑๙ เหรียญที่นำมาลงนี้เป็นเนื้อเงิน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๖ มม ครับ พระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท ในปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญของพระราชวังบางปะอิน

เนื่องจากเป็นสถาปัตยกรรมไทยเพียงหลังเดียว ที่ตั้งอยู่โดดเด่นท่ามกลามสถาปัตยกรรมตะวันตก ถ้าจำไม่ได้ว่าเป็นตึกใด ให้นึกถึงภาพศาลาทรงไทยที่ตั้งอยู่กลางน้ำ ที่เราเห็นในรูปถ่ายวังบางปะอินบ่อยๆน่ะครับ


ส่วนพระที่นั่งวโรภาษพิมานเป็นพระที่นั่งศิลปกรีกแบบคอรินเธียน มีความสำคัญคือ ร๕ ทรงเคยใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการยามที่เสด็จหัวเมือง และงานพระราชพิธีต่างๆ ด้านหน้า เป็นตรา จปร ด้านหลังเป็นรูปพระที่นั่งฯ

ตัวอย่างเหรียญที่ ๑

ตัวอย่างเหรียญที่ ๒

คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่
รูปขยายแสดงรายละเอียดในจุดต่างๆ

รูปนี้ถ่ายเปรียบเทียบกับเหรียญงานโสกันต์ที่มีผิวสีเงิน ด้านหลังที่เป็นตรา จปร จะเป็นสีดำคล้ำรอบๆ แต่ตรงกลางยังคงเป็นสีเงินอยู่ ด้านนี้น่าจะเป็นด้านที่ถูกวางคว่ำไว้
ภาพพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ถ่ายสมัย ร.๕ สังเกตุว่าพระที่นั่งมีการต่อเติม ต่างจากรูปที่ปรากฏอยู่หน้าเหรียญเล็กน้อย

ข้อมูลจำเพาะ
ลักษณะ : กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า : มีรูปพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ริมขอบมีข้อความว่า “การเฉลิมพระที่นั่งอัยสวรรย์ทิพยอาสน์ปราสาท พระที่นั่งวโรภาษพิมาน ณ เกาะบางปอิน แขวงกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโปราณ ปีชวด อัฐศกศักราช ๑๒๓๘”
ด้านหลัง : พระปรมาภิไธยย่อ “จปร”
ชนิด : เงิน ทองแดง ดีบุก (เหรียญลองพิมพ์)
ขนาด : เส้นผ่านศูนย์กลาง 66 มิลลิเมตร

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๒๓ เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

พ.ศ.๒๔๒๓ เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

พ.ศ.๒๔๒๓* (ร.ศ. ๙๙) เหรียญที่ระลึก เปิดเหมือง

เหรียญที่ระลึกเปิดเหมือง จัดเป็นหนึ่งในเหรียญที่ระลึกรัชกาลที่๕ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในบรรดานักสะสม เนื่องจากเป็นเหรียญที่มีรูปลักษณ์สวยงาม และแปลกตา กล่าวคือ ด้านหน้า เป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้ายกับเหรียญกษาปณ์ “บาทหนึ่ง” ที่ประกาศใช้ในปีพ.ศ. ๒๔๑๙ (ร.ศ.๙๕) ส่วนด้านหลัง เป็นข้อความภาษาฝรั่งเศส ว่า “MINES DE KHAOTREE, GetT” นอกจากนี้ ตัวเหรียญยังมีลักษณะที่ผ่านการผลิตขึ้นรูปอย่างปราณีตสวยงาม คาดว่าน่าจะเป็นเหรียญที่ผลิตจากต่างประเทศ เพื่อเป็นที่ระลึกในการเปิดเหมืองแร่แห่งหนึ่งในประเทศสยาม ในยุคนั้น

อย่างไรก็ดี เหรียญเปิดเหมืองนี้ เป็นเหรียญที่สืบค้นประวัติความเป็นมาได้ยากยิ่ง การอ้างอิงปี พ.ศ.๒๔๒๓ เป็นเพียงการอ้างอิงข้อมูลตามบริษัทประมูลระดับโลก Heritage Coin เท่านั้น แต่ยังไม่สามารถค้นคว้าข้อมูลลงลึกในระดับปฐมภูมิ เช่นพระราชกิจจานุเบกษามายืนยันได้ และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเหมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ หากแต่ภาษาฝรั่งเศสที่ปรากฎอยู่ด้านหลังเหรียญน่าจะพอทำให้เชื่อได้ว่าเป็นกิจการเหมืองแร่ที่ลงทุนโดยนักลงทุนชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ จากการค้นคว้าจากประทานบัตรเหมืองแร่ ในสมัยรัชกาลที่๕ พบว่าการลงทุนทำเหมืองแร่ในยุคนั้นส่วนมากเป็นเหมืองแร่ดีบุกทางภาคใต้ รวมถึงแร่วุลแฟรม และมีประทานบัตรเหมืองทองคำเพียงบางส่วนเช่น ในเขตหล่มสัก เมืองเพชรบูรณ์ และบางส่วนทางภาคตะวันออก

ด้านหน้าเหรียญ

ด้านหลังเหรียญ

คำบรรยายภาพ : เหรียญเปิดเหมืองเนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง
คำบรรยายภาพ: เหรียญเปิดเหมืองเนื้อบรอนซ์กะไหล่ทอง

ข้อมูลจำเพาะ

ด้านหน้า : พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศพลเรือน มีอักษรรอบขอบเหรียญว่า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่า ด้านหน้าเหรียญนี้ ทำลักษณะเดียวกับเหรียญเงิน บาทหนึ่ง ที่ประกาศใช้ในปีร.ศ.๙๕ แต่พระบรมรูปมีความคมลึก สวยงามกว่ามาก หากแต่ ตัวอักษรรอบขอบเหรียญกลับมีการแกะตัวอักษรที่ไม่สมบูรณ์ คาดว่าน่าจะเป็นเพราะช่างผู้แกะพิมพ์เป็นชาวต่างประเทศ และไม่รู้ภาษาไทย และขาดขั้นตอนการพิสูจน์ตัวอักษร อาจเพียงใช้เหรียญเงิน บาทหนึ่ง เป็นตัวอย่างในการออกแบบ
ด้านหลัง : มีอักษรรอบขอบเหรียญว่า MINES DE KHAOTREE, GetT
ขอบเหรียญ: มีเฟืองโดยรอบ
ขนาด : เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ มิลลิเมตร
ชนิด : เนื้อบรอนซ์ , เนื้อบรอนซ์กะไหล่ทอง, เนื้อทองเหลืองกะไหล่ทอง ด้านหลังมีทั้งชนิดดาวดวงใหญ่ และดาวดวงเล็ก

หมายเหตุ : เนื้อบรอนซ์ หมายถึงโลหะผสมทองแดงกับดีบุก ซึ่งส่วนประกอบหลักจะเป็นโลหะทองแดง โดยมีดีบุก และโลหะชนิดอื่นเป็นส่วนประกอบรอง สามารถแยกย่อยได้หลายประเภทขึ้นกับสัดส่วนผสมของดีบุกและโลหะผสมอื่นๆในเนื้อทองแดง เช่นเนื้อบรอนซ์บางชนิดที่นำมาผลิตเป็นภาชนะในสมัยโบราณเป็นที่รู้จักและเรียกกันในเมืองไทยว่า สำริด เนื้อทองเหลือง หมายถึงโลหะผสมทองแดงประเภทหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบหลัก รองจากทองแดงเป็นสังกะสี

Categories
เหรียญในรัชกาลที่ 5 พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พ.ศ.๒๔๒๔ (จ.ศ.๑๒๔๓) เหรียญที่ระลึกรางวัลการรักษาอหิวาตกโรค

พระราชทานแก่ผู้ที่ช่วยเหลือพยาบาลผู้ป่วยอหิวาต์ ซึ่งระบาดหนัก ในเดือนสาม ปีระกา พศ 2424 ในเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้มีการรักษาพยาบาลแบบสมัยใหม่แทนการทำพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีต โดยเริ่มด้วยการจัดตั้งสถานพยาบาลและบำบัดโรคชั่วคราวขึ้นที่ตำบลวังหลัง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี (ภายหลังกลายมาเป็นโรงพยาบาลศิริราช) และทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อธิบดีกรมหมอในขณะนั้น คิดวิธีปรุงยารักษาโรคคล้ายแบบฝรั่งขึ้น เหรียญชนิดนี้ที่พบเห็นมีสองเนื้อ คือทองแดง ซึ่งพบมากกว่า ส่วนในรูปเป็นเหรียญเงิน ซึ่งพบเห็นน้อยกว่า เนื้อเงินพระราชทานผู้ที่ช่วยในการนี้ มีจารึกชื่อลงในพวงมาลัย มีรายพระนามและรายนามผู้ได้รับพระราชทานเหรียญจารึกชื่อนี้ ๔๘ คน พระราชทานตั้งแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๒๔

อนึ่งทรงพระราชดำริห์ว่า พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าทูลอองธุลีพระบาทได้มีใจสวามิภักดิจัดการโรงรักษาไข้ ให้สำเร็จทันโดยพระราชประสงค์ เป็นความชอบความดีในพระองค์เป็นอันมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเงินเป็นรางวัลที่ระฦก มีดิปลัมมากำกับด้วย ข้อความในดิปลัมนั้นมีความดังที่ได้คัดลงมาดังนี้

สมเด็จ

พระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์

พระจุลจอมเกล้า เจ้ากรุงสยาม


ทรงพระราชดำริห์ว่า (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมีกรมหลวงจักรพรรดิพงษ์) ได้รับฉลองพระเดชพระคุณจัดการตั้งโรงรักษาคนเจ็บอหิวาตกโรค ณ กรุงเทพฯ ในเดือนแปด เดือนเก้า ปีมเสงตรีศกโดยมีน้ำใจจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แลมีความเมตตาเพื่อนชาติมนุษย์ด้วยกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญเงินมีรูปเทพยดาถือพวงมาไลย จาฤกชื่อแลบอกเหตุการ ให้เป็นที่ระฦกในการที่ได้ตั้งทำครั้งนี้ ขอจงมีความสุขสวัสดิเจริญเทอญ

พระราชทานตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนสิบ แรมสิบสี่ค่ำ ปีมเสงตรีศกศักราช ๑๒๔๓ เป็นปีที่ ๑๔ ฤๅวันที่ ๔ ๗๐๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
(ทรงเซ็นพระราชหัตถเลขา)

สยามินทร์

ในดิปลัมมานั้นมีความดังนี้เหมือนกันทุกฉบับ เปลี่ยนแต่ชื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเท่านั้น จำนวนผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักพรรดิพงษ์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภาณุพันธุ์วงษ์วรเดช ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงค์ศักดิ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากมลาศนเลอสรร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษวโรประการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรรณาการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบันฑิตย์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ๑ พระองค์เจ้าสายสินิทวงษ ๑ พระองค์เจ้าขจรจรัศวงษ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงค์ ๑ พระยาภาศกรวงษ ๑ เปลี่ยนภรรยาพระยาภาศกรวงษ ๑ พระยาเทพประชุม ๑ พระยาอนุชิตชาญไชย ๑ พระยานรรัตนราชมานิต ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ พระยารัตนโกษา ๑ พระยาไชยสุรินทร์ ๑ พระยามหามนตรี ๑ พระยาสมุทบุราณุรักษ ๑ พระยาสมุทสาครานุรักษ ๑ พระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ ๑ พระอินทรเทพ ๑ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ๑ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ๑ พระพิเทศสันตรพานิช ๑ พระสยามนนทเขตรขยันปลัดเมืองนนทบุรี ๑ หลวงสิทธินายเวร ๑ หลวงเดชนายเวร ๑ หลวงนฤศรราชกิจ ๑ หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา ๑ ขุนศรีสุพรรณ ๑ หมื่นสฐานไพรชน ๑ หมื่นสวัสดิภักดี ๑ สมิงชำนาญบาญชี ๑ ดอกเตอปีเตอกาแวน ๑ มิศเตอเฟรตริกซอลอมอน ๑ นายสุ้นน้องพระชลธาร ๑ มิศเตอเบอนหาศกริม ๑ บาบูรัมซามิพราหมณ์ ๑ รวม ๔๘ คน

ตัวอย่างเหรียญ ชนิด ต่างๆ

  • เหรียญอหิวาตกโรค เนื้อเงิน
  • เหรียญอหิวาตกโรค เนื้อทองแดง

ข้อมูลจำเพาะ

ลักษณะ กลมแบน ขอบเรียบ
ด้านหน้า เป็นรูปเทวดาเหาะ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ พระหัตถ์ขวาถือพวงมาลาด้านซ้าย มีข้อความว่า “ปีมแสงตรีศก ๑๔” ด้านขวามีข้อความว่า “จุลศักราช ๑๒๔๓”
ด้านหลัง มีข้อความว่าอยู่ในพวงมาลาว่า


“พระราชทานรางวัล
เปนที่รฦก
ในการรักษา
คนเจบอหิวาตกโรค”


ชนิด เงิน และ ทองแดง
ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 62 มิลลิเมตร

Ref ๑.ราชกิจจานุเบกษา จ.ศ. ๑๒๔๓ หน้า ๕๐-๕๒
๒. ปฎิทินโหราศาสตร์ ๒๔๑๗-๒๔๗๙ หน้า ๒๖๔